ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (EIC SCB) คาดการณ์ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 โดยโอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลงนับจากการประชุมครั้งก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด และเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น โดย EIC ประเมินว่า ในกรณีฐาน กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2022 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นนับจากการประชุมรอบก่อน โดยสถานการณ์ล่าสุดออกมาดีกว่าการประเมินของ กนง. ในครั้งก่อน ที่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทยอยปรับลดลงและภาครัฐจะสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2021 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ผลโหวตคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์ และการสื่อสารของคณะกรรมการฯ ที่ว่า มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ EIC มองว่า โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้ามีน้อยลงกว่าการประชุมครั้งก่อนค่อนข้างมาก ด้านปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ การรักษา policy space ไว้ใช้ยามจำเป็นที่เศรษฐกิจไทยกลับมาหดตัว และผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีกอาจทำให้ประชาชนที่พึ่งพารายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากต้องหันมาออมเงินมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง อีกทั้ง ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานานเป็นการสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพการเงินไทยในระยะยาวอีกด้วย
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปคาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นได้ช้า และแผลเป็นทางเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่มาก สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และงบดุลของภาคธุรกิจที่เปราะบางลง โดยขนาดของเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2019 จนกระทั่งช่วงกลางปี 2023 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยถึงแม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงแต่คาดว่าจะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นมากนัก อีกทั้ง ธปท. ยังสามารถเข้าดูแลเสถียรภาพของเงินบาทในเวลาที่อ่อนค่าลงเร็วผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ จึงทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินบาท
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับมาตรการทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะในกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้นตามการสื่อสารของ กนง. อีกทั้งจะมีการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในปีหน้า
ด้านเงินบาทปรับอ่อนค่าลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทย และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังขาดดุลต่อเนื่อง จึงช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินให้แก่ผู้ส่งออกไทยได้ โดยนับตั้งแต่การประชุม FOMC ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นราว 0.7% ประกอบกับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2022 และขยายเพดานหนี้สาธารณะ กดดันให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 11.4%YTD สู่ระดับ 33.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีความผันผวนในระยะสั้น โดยปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกอาจมาจาก 1) ความเสี่ยงที่อาจมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เกิดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 2) การทำ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ อาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจาก EM รวมถึงไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้คือ แนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยตามแนวทางการเปิดเมืองหลังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อกว่าคาด สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้แผนการทำ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ที่ราว 33.3-33.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ