xs
xsm
sm
md
lg

KBank Private Banking เปิดมุมมอง ศก.โลกยังเป็นบวก แนะ 7 กลยุทธ์การลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “BACK TO GROWTH AS WE KNOW IT?” วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลงด้วยแรงหนุนจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวหลังการทยอยเปิดเมือง

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 
เปิดเผยว่า ตลอดปี 2564 มีหลายเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของดัชนี MSCI All Country World Index โดยหลักๆ เป็นกรณีเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ก่อนที่ประเด็นดังกล่าวจะผ่อนคลายลงหลังตลาดรับรู่ว่าเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเป็นเพียงชั่วคราว และจะค่อยๆ หายไปต่อจากนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดของสายพันธ์เดลตา ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนในตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวลง และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงอ่อนแอเช่นเดิม

รวมถึงมาตรการควบคุมบริษัทเอกชนของรัฐบาลจีน และความกังวลเรื่องผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ที่ตลาดตื่นตระหนกว่าจะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ในวงกว้างจนเกิดแรงเทขายในทั้งตลาดตราสารหนี้ และหุ้นจีน

ล่าสุด ผลการประชุม FED ที่ออกมาเป็นกลาง โดยส่งสัญญาณลดการซื้อสินทรัพย์ว่าอาจจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงกลางปีหน้า และการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% เช่นเดิม แต่การขึ้นดอกเบี้ยมีโอกาสเร็วขึ้น มาเป็นในปี 2565 ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปีปรับขึ้นมาอยู่เหนือ 1.4% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี FED ยังมีโอกาสที่จะเลื่อนการลดการซื้อสินทรัพย์ออกไปได้ หากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาเริ่มคลี่คลายในบางภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังมีความกังวลจากการที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น (Stagflation) ทั้งนี้ KBank Private Banking และ Lombard Odier ยังคงมุมมองบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในอีกหลายไตรมาสและหลายปีต่อจากนี้

ด้าน น.ส.ศิริพร สุวรรณการ Managing Director - Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัฏจักรของเศรษฐกิจโลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่วัฏจักรที่เติบโตในอัตราปกติ หลังจากที่ฟื้นตัวจากวิกฤตมาแล้ว โดยมี 7 เหตุผลหลักสนับสนุน คือ

- เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มก่อนโควิด-19 อัตราการเติบโตกลับสู่ระดับปกติ วัฏจักรกลับสู่สภาวะที่มั่นคงขึ้น เพราะการฟื้นตัวอย่างเร็วและแรง ย่อมตามด้วยการเติบโตในอัตราที่ชะลอเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

- จุดสูงสุดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะที่ในสหรัฐฯ ที่มีการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ได้รับผลกระทบในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในกลุ่มท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ก่อนหน้านี้ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ตำแหน่งต่อเดือน แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหลือศูนย์ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าโลกเรากำลังเดินหน้าไปยังเป้าหมายที่ถูกต้อง ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่อจากนี้

- ภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งมีกำไรสูงกว่าคาด ในขณะที่มีความต้องการใช้จ่ายรออยู่ กำไรของบริษัทในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับในยุโรป และบางประเทศในเอเชีย แน่นอนว่าการที่บริษัทมีกำไรสูงจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้แข็งแกร่ง ค่าจ้างมีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้น นำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการที่บริษัทมีกำไรสูงอาจจะนำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาคการบริโภคยังได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่อั้นไว้ (Pent-up demand) โดยการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด-19 และต่อจากนี้จะเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนเป็นการใช้จ่ายด้านบริการแทน

- นโยบายการคลังขนานใหญ่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐฯ อาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภาเสร็จสิ้น แต่ด้วยมูลค่าแผนการลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เราจะเห็นการกระตุ้นจากภาครัฐในลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายประเทศ โดยคาดว่าจะเห็นการลงทุนของรัฐบาลทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในอีกหลายไตรมาสต่อจากนี้

- ความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อผ่อนคลายลง สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มาจากปัจจัยชั่วคราว และเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงวิกฤตปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยชั่วคราวเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป ขณะที่เงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพระยะยาว หนุนจากตลาดแรงงาน ค่าจ้าง และค่าเช่าที่สูงขึ้นจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ จึงจะไม่กดดันธนาคารกลางให้รีบขึ้นดอกเบี้ย

- การปรับลดการสนับสนุนจากนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความยืดหยุ่น หากตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง หรือไม่เป็นไปตามคาด ธนาคารกลางยังมีความยืดหยุ่นในการชะลอแผนการลดการซื้อสินทรัพย์ได้ Lombard Odier คาดว่า FED จะเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ในปี 2565 และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยนโยบายการเงินที่จะยังไม่เข้มงวดอย่างรวดเร็วก็จะยังหนุนเศรษฐกิจต่อไปได้

- จีนมีศักยภาพด้านการเงินและการคลังเพียงพอในการใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง แม้ว่าในช่วงหลังจะมีประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande และการออกมาตรการควบคุมบริษัทเอกชนของทางการจีนที่กดดันตลาด แต่ Lombard Odier เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ (Hard landing) เนื่องจากทางการจีนยังมีเครื่องมืออีกมากที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจจีนชะลอลงแบบ "Soft landing" แทน

นายตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director - Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกว่ากำลังเติบโตช้าลง เพื่อเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ หลังจากฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้ ธนาคารแนะนำ 7 กลยุทธ์การลงทุน ได้แก่ คงมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นที่มีราคาถูก (Value) และหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดี และแนวโน้มบอนด์ยิลด์ขาขึ้น จะช่วยหนุนหุ้น Cyclical และหุ้น Value ให้ไปได้ต่อ ซึ่งหนึ่งในภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์จากหุ้นกลุ่มนี้ คือ ยุโรป

หุ้นยุโรปจะให้ผลตอบแทนที่ดี และยั่งยืน ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปีที่แล้ว หุ้นยุโรปฟื้นตัวล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ เรายังเชื่อว่าหุ้นยุโรปจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อจากนี้ จาก 1) Sentiment หลังการเลือกตั้งในเยอรมนี ซึ่งจะสนับสนุนหุ้นยุโรปและค่าเงินยูโร แต่อาจมีการออกพันธบัตรเยอรมนีเพิ่มซึ่งจะกดดันราคา และ 2) แผนการปฏิรูปสีเขียวของยุโรป (European Green Deal) ที่จะสร้างโอกาสการลงทุนมากมาย

แต่ยังคงระมัดระวังในพันธบัตรรัฐบาล Lombard Odier คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มลดสินทรัพย์ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในเดือนธันวาคมนี้จนถึงมิถุนายน 2565 เราจึงมองว่าบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ จะปรับขึ้นสู่ระดับ 2.25% ในเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับอ้างอิงตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ 1.69% และระดับปัจจุบันที่ 1.5%

การลงทุนในจีนจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น จากประเด็นเรื่อง Evergrande หากเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดที่หนี้ที่ไม่มีหลักประกันสูญเสียเงินต้นทั้งหมดก็ตาม จากการประเมินของ Lombard Odier ภาคธนาคารจีนมีความแข็งแกร่งพอที่จะทนทานต่อการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ได้ กรณีฐาน เรามองว่ารัฐบาลจีนมีเครื่องมือเพียงพอที่จะช่วยพยุงบริษัทเพื่อไม่ให้ส่งกระทบในวงกว้าง และ Evergrande จะไม่ซ้ำรอยวิกฤตเเลห์แมน บราเธอร์ส โดยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% ถือว่าสูงมากในภาวะดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย นอกจากนี้ เราใช้โอกาสที่ตลาดถูกเทขายในการลงทุนในหุ้นจีนเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน

มองสินทรัพย์นอกตลาดในการเพิ่มเติมผลตอบแทนให้สูงขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกกับสภาพคล่องที่ต่ำ แต่ความท้าทายของสินทรัพย์ในตลาดจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้หลายปี โดยเฉลี่ยระยะยาว หุ้นนอกตลาดสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 2.7%

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ประโยชน์จากเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และนโยบายภาครัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 นอกจากนั้น เม็ดเงินลงทุนเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หนุนจากแผนการลงทุนของ ปธน.ไบเดน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านราคาของโครงสร้างพื้นฐานยังขึ้นมาน้อยกว่าตลาดหุ้น ทำให้เราคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในระยะข้างหน้า

และการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นผลดีในระยะยาว โดยเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทที่สามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต เพราะความเสี่ยงของการไม่ปรับตัว นอกจากจะทำให้โลกร้อนขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องด้วย

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่แม้แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการเปิดเมือง ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาวผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Policy Driven for Better World ที่จะได้รับอานิสงส์จากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก รวมถึงธีม Laggard and Cyclical Upturns ที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองและภูมิภาคที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่น ญี่ปุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น