xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” ถกหามาตรการเตรียมพร้อมเติมเงินกองทุนน้ำมันฯ รับมือตรึง LPG-สกัดดีเซลพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานหารือรับมือราคาพลังงานตลาดโลกพาเหรดขึ้นราคาพุ่งทั้งน้ำมัน LPG เล็งงัดมาตรการรองรับ โดยเตรียมปรับเพดานวงเงินตรึงราคาแอลพีจีเป็น 2 หมื่นล้านบาท หารือ สศช.ขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐหากกองทุนฯ ไม่เพียงพอ ตั้งเงื่อนไขอุดหนุนราคาดีเซล เน้นกรณีที่ขึ้นแรงจนเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอัตรา 1 บาท/ลิตร ใน 1 สัปดาห์

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อ 28 ก.ย. ได้มีการหารือรับมือราคาน้ำมันดิบที่แตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล, ราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ราคาตลาดตะวันออกกลาง (ซีพี) ที่ปรับตัวแตะ 770 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน นับเป็นราคาที่เหนือการคาดการณ์ เนื่องจากความต้องการใช้ทั่วโลกได้สูงขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาที่อาจจะขยายกรอบดูแลราคาแอลพีจีเป็น 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบปัจจุบัน 1.8 หมื่นล้านบาท และการเตรียมพร้อมมาตรการกรณีราคาน้ำมันดีเซลที่อาจจะสูงจนเกินความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

“กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการที่จะเตรียมพร้อมไว้รองรับราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยจะต้องดูแหล่งที่มาหากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีเงินไม่เพียงพอหรือไม่หากราคาขึ้นสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ กำลังหารือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อใช้เงินส่วนนี้ ซึ่งตามกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ ระบุว่า หากให้กองทุนกู้เองจะกู้ได้ราว 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น”

ทั้งนี้ ราคาแอลพีจีตลาดโลกที่สูงถึง 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ทำให้ต้องใช้เงินดูแลราคาแอลพีจีที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก.เพิ่มขึ้น โดยมีเงินกองทุนน้ำมันฯ จะไหลออกราว 1,700 ล้านบาท/เดือน หากดูแล 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 64) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต้องใช้เงินดูแลราว 5,000 ล้านบาท โดยการตรึงราคาในประเทศราคานี้มีการใช้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 มีการใช้วงเงินอุดหนุนแอลพีจีไปแล้วจนถึงวันที่ 26 ก.ย. 64 ที่ 17,431 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 11,441 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือถึงการรับมือราคาดีเซลที่อาจแตะ 30 บาท/ลิตร อย่างไรก็ตาม ดีเซลพื้นฐานในประเทศ คือ บี 10 มีราคาล่าสุด 27.69 บาท/ลิตร ส่วน บี 7 มีราคา 30.69 บาท/ลิตร สัดส่วนการใช้ของประเทศอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น จึงเห็นว่าควรรณรงค์ให้มาใช้บี 10 เพราะราคาถูกกว่า 3 บาท/ลิตร และหากกองทุนฯ จะอุดหนุนก็ควรจะมาดูตามเกณฑ์มติ ครม. วันที่ 20 ต.ค. 63 คือหากราคาดีเซลขึ้นจนเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอัตรา 1 บาท/ลิตร ใน 1 สัปดาห์ จึงควรจะเข้ามาพิจารณาอุดหนุน
กำลังโหลดความคิดเห็น