xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ จับมือ Shopee จัด “สุขใจซื้อของไทย” ขายสินค้าชุมชน 4,000 รายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ Shopee จัดแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” นำสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนกว่า 4,000 รายการมาจำหน่าย ให้ส่วนลดสูงสุด 15% วันที่ 1-10 ต.ค.นี้ หวังช่วยผู้ประกอบการให้มีช่องทางการจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าชุมชนในราคาประหยัด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ Shopee นำสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนกว่า 4,000 รายการมาจำหน่ายผ่านแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” ระหว่างวันที่ 1-10 ต.ค. 2564 ก่อนมหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ 10.10 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปเลือกซื้อสินค้าชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ได้ และช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสสนับสนุนสินค้าชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ ในราคาประหยัด

สำหรับสินค้าชุมชนที่นำมาจำหน่าย เช่น ผักผลไม้อบกรอบ น้ำผึ้งดอกลำไย กระเป๋ากระจูด กือโปะ น้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นต้น โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ที่แอปพลิเคชัน Shopee หรือเว็บไซต์ www.shopee.co.th/dbdonline โดยมอบโปรโมชันส่วนลดสูงสุด 15% เพียงกรอก Code “DBD15” และพิเศษสุดๆ ยังมี Code “OTOPSMART” ใช้ลดราคาสินค้า OTOP ได้ด้วย

"คาดหวังว่าแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันอุดหนุนสินค้าชุมชนผ่านแคมเปญพิเศษนี้ เพราะมีสินค้าดีๆ จากทั่วประเทศมาจำหน่าย พร้อมส่วนลดพิเศษที่ทางกรมฯ และ Shopee มอบให้ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้” นายทศพลกล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา รายงานว่า ประชาชนยอมรับและเชื่อถือการใช้ e-Commerce มากขึ้น มีประชาชนซื้อสินค้าและบริการออนไลน์สูงขึ้น ยอดเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 37.7% เป็น 76.6% ทำให้ไทยมีมูลค่าการชําระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile Banking สูงที่สุดในโลก

โดยพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6-10 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการใช้เพื่อการทํางาน เช่น ประชุมออนไลน์ หรือ Work from home คิดเป็นสัดส่วนถึง 75.2% เรียนออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 71.1% ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 67.4% เพื่อการติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% และเพื่อทําธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์ 54.7% ดังนั้น ผู้ประกอบการออนไลน์จึงต้องปรับปรุงและพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ของตนเองให้ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสประสบความสำเร็จได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น