การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นหนึ่งในภารกิจที่ “นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้มีความมุ่งมั่น และตั้งใจขับเคลื่อนให้สำเร็จ เพราะต้องการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย รายจิ๋ว เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ ผู้ประกอบการชุมชน รวมทั้งยังเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนไทยทั้งประเทศในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ปัจจุบันหลายโครงการมีความคืบหน้า โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ภายใต้หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” มีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งการส่งเสริมและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า OTOP SMEs สินค้าเกษตรทางออนไลน์ การพัฒนาผู้ประกอบการค้าออนไลน์ การพัฒนาโชวห่วย การใช้แฟรนไชส์สร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ว่างงาน หรือผู้ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
เพิ่มช่องทางขายให้ SMEs OTOP เกษตรกร
นายสินิตย์กล่าวถึงผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้มอบเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการช่วยเหลือและเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOP สินค้า SMEs และสินค้าของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องปรับไปใช้ช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ยังคงจำหน่ายสินค้าได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยผลการดำเนินงานในส่วนของ SMEs และ Micro SMEs กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจ ช่วยให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ประกอบการ มีกำหนดจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ารวม 4 ครั้ง นำสินค้าจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออก ภาคกลางและกรุงเทพฯ มาจัดงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปี และเชิญให้ผู้ประกอบการที่สนใจซื้อสินค้ามาเลือกชม เลือกซื้อ และนำไปจำหน่าย ซึ่งผลงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559-63 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท
ส่วนสินค้า OTOP และผู้ประกอบการชุมชนและท้องถิ่นได้เข้าไปช่วยอบรมให้เป็นนักการตลาด OTOP มืออาชีพผ่านระบบออนไลน์ 303 ราย และคัดเลือกเข้ารับการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการตลาด 101 ราย เพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ต่อไป และยังได้อบรมผู้ประกอบการที่เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งจำหน่ายต้นแบบ 159 แห่ง มีผู้ที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ 15 แห่ง รวมทั้งได้จัดหลักสูตรอบรมการเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กับโมเดิร์นเทรด ซึ่งสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาบนเว็บไซต์ http://dbdacademy.dbd.go.th
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดยุคใหม่ ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดสู่ออนไลน์ โดยได้จัดโครงการ “ช้อปสนุก 24 ชั่วโมง บนร้านค้าเสมือนจริง” ผ่านเว็บไซต์ www.otopselect.com จำนวน 300 ราย จัดเชื่อมโยงการจำหน่ายกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ Shopee, Lazada, Line shop และ Facebook shop คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มากกว่า 20 ล้านบาท จัดเจรจาจับคู่ธุรกิจกับโมเดิร์นเทรด ผู้ซื้อ ผู้จัดจำหน่าย มีการเจรจารวม 480 คู่ เกิดการซื้อขายประมาณ 10 ล้านบาท
ในส่วนของสินค้าเกษตร ได้มีการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” นำสินค้าจากเกษตรกร สหกรณ์ ขายผ่านทางออนไลน์บน Thaitrade.com เพื่อการส่งออก และขายผ่าน Phenixbox.com เพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยได้จัดให้มีการจับคู่เจรจาธุรกิจ ปรากฏว่า ในด้านการส่งออก ต่างชาติสนใจซื้อเกือบ 80 ล้านบาท และในประเทศ โรงแรม 11 แห่งสนใจซื้อสินค้า 3 ล้านบาท และพร้อมที่จะซื้อเพิ่มหลังโควิด-19 คลี่คลาย
ทางด้านผู้ผลิตสินค้าชุมชน ได้ผลักดันให้ชุมชนที่มีศักยภาพทั่วประเทศเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ โดยปัจจุบันมีชุมชนต้นแบบรวม 20 ชุมชน และยังได้ร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Lazada และ Shopee นำสินค้าชุมชนเข้าไปจำหน่าย ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน มีผลการดำเนินงานตั้งแต่มี.ค. 2562-ก.ค. 2564 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 250 ร้านค้า มียอดจำหน่ายรวมเกือบ 50 ล้านบาท
เร่งปั้นผู้ประกอบการออนไลน์หน้าใหม่
นายสินิตย์กล่าวว่า นอกจากการช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์แล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เข้าไปช่วยสร้างผู้ประกอบการการค้าออนไลน์รายใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยได้อบรมกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเรียนรู้และเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายโดยใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ ผ่านโครงการ “เพิ่มโอกาสการค้าด้วย e-Commerce” และกลุ่มผู้ประกอบการฐานราก ผู้ประกอบการชุมชน กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ผ่านการดำเนินโครงการ “พัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ Offline2Online (B2C)”
ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการเพิ่มโอกาสการค้าด้วย e-Commerce มี 2 กิจกรรมที่ทำไปแล้ว คือ สร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ สามารถใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคนิคการตลาดออนไลน์ในการเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ ดำเนินการอบรมไปแล้ว 2,404 ราย และกิจกรรมสร้างนักการค้าออนไลน์มืออาชีพ Smart Trader Online ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสู่การเป็นนักการค้าออนไลน์มืออาชีพ เพื่อช่วยจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ให้แก่ชุมชน โดยการจับคู่เชื่อมโยงเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชนที่มีสินค้าที่มีศักยภาพ เพิ่มโอกาสทางการค้าออนไลน์ อบรมไปแล้ว 406 ราย ส่วนโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ Offline2Online (B2C) จะอบรมให้ผู้ประกอบการใน 18 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี จันทบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร และอุบลราชธานี โดยได้จัดหลักสูตรปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ Online Marketing Genius รุ่นที่ 1 (OMG#1) “บุกตลาดออนไลน์ สร้างยอดขายทะลุล้าน” จัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Webinar มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 1,578 ราย
ส่วนโครงการอื่นๆ จะส่งเสริมการค้าออนไลน์ โดยนำผู้เชี่ยวชาญ และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยผลดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันทำไปแล้วกว่า 4 หมื่นราย และยังมีแผนพัฒนาศักยภาพทางการค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ ด้วยการแนะนำการสร้างร้านค้าออนไลน์ การเขียนเรื่องราวสินค้า การถ่ายภาพ การทำโฆษณา การทำตลาดออนไลน์ เทคนิคการขายผ่านออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์ม e-Marketplace และการทำแคมเปญโปรโมตสินค้า
เสริมแกร่งโชวห่วยเพิ่มรายได้ฐานราก
สำหรับการพัฒนาร้านโชวห่วย นายสินิตย์กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญ เพราะร้านโชวห่วยมีอยู่กว่า 4 แสนแห่ง ถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในระดับฐานรากทั่วประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.03 ล้านล้านบาท จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือทั้งการผลักดันให้เข้าถึงโครงการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เพื่อเพิ่มรายได้ และการช่วยพัฒนาให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านโชวห่วย และให้เป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก
“ได้รับรายงานจากอธิบดีว่าได้เข้าไปช่วยเหลือแล้วกว่า 18,566 ร้านค้า ในจำนวนนี้ได้สร้างองค์ความรู้พัฒนาเป็นสมาร์ทโชวห่วย ด้วยการเพิ่มความรู้การทำบัญชี ภาษี ปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การบริหารจัดการ การจัดการสินค้าคงคลัง การตลาดออนไลน์ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้านแล้ว 10,366 ร้านค้า และได้ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ สถาบันการศึกษา สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และบริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย ผลักดันให้เป็นสมาร์ทโชวห่วย มีร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 3,204 ร้านค้า”
นอกจากนี้ ได้ช่วยเพิ่มรายได้ โดยช่วยเหลือร้านโชวห่วยที่อยู่ในเครือข่ายของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ผ่านการสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าขายดีในร้านค้าโชวห่วยและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยมีร้านมารับชุดสินค้าแล้ว 3,500 ร้านค้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 12.56 ล้านบาท และยังได้ผลักดันให้ร้านโชวห่วยนำเทคโนโลยี POS มาใช้ในการบริหารจัดการ มีร้านค้าได้รับการสนับสนุนแล้ว 643 ร้านค้า ขณะเดียวกัน ได้ยกระดับร้านโชวห่วยขนาดกลางและใหญ่ เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจค้าส่งค้าปลีก มีร้านค้าผ่านการพัฒนาเป็นร้านต้นแบบแล้ว 213 ร้านค้าทั่วประเทศ
เดินหน้าเพิ่มแฟรนไชส์รายใหม่
นายสินิตย์กล่าวอีกว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2544-64 รวม 24 รุ่น จำนวน 1,094 ราย แยกตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ อาหาร 464 ราย คิดเป็นสัดส่วน 42% เครื่องดื่ม 142 ราย สัดส่วน 13% การศึกษา 63 ราย สัดส่วน 6% ค้าปลีก 161 ราย สัดส่วน 15% ความงามและสปา 81 ราย สัดส่วน 7% และ บริการ 183 ราย สัดส่วน 17%
นอกจากการผลักดันให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ ยังได้พัฒนาแฟรนไชส์ที่มีอยู่เดิมให้มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยตั้งแต่ปี 2552-64 มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพรวม 484 ราย แยกตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ อาหาร 208 ราย สัดส่วน 43% เครื่องดื่ม 92 ราย สัดส่วน 19% การศึกษา 69 ราย สัดส่วน 14% ค้าปลีก 34 ราย สัดส่วน 7% ความงามและสปา 24 ราย สัดส่วน 5% และบริการ 57 ราย สัดส่วน 12%
ขณะเดียวกัน ได้ผลักดันแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาให้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้แล้ว 32 ราย ใน 32 ประเทศ เช่น Black Canyon Mango Mania เดอะวอฟเฟิล กาแฟชาวดอย ตำมั่ว Moly Care Clay Work Smart Brain และ Teddy House เป็นต้น
ใช้แฟรนไชส์สร้างอาชีพคนว่างงาน
นอกเหนือจากการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ นายสินิตย์กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้ดำเนิน “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” โดยเป็นแนวคิดที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้แฟรนไชส์เป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ตกงาน ผู้ว่างงานที่ขาดรายได้ หรือผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว
“การสร้างรายได้ด้วยระบบแฟรนไชส์จึงตอบโจทย์ในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 มากที่สุด เพราะระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือและเป็นระบบธุรกิจที่ได้พิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากเจ้าของแฟรนไชส์จะเป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำธุรกิจแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ คอยช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาให้สามารถทำเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่ตนเอง และครอบครัว ในขณะเดียวกันโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ยังส่งเสริมให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการขยายเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้เร็วขึ้นด้วย” นายสินิตย์กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ จัดงาน MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพ ในส่วนกลาง 1 ครั้ง เป้าหมาย 400 ธุรกิจ ณ ศูนย์แสดงสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะนำธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และสถาบันการเงิน เข้าร่วมงานแสดงธุรกิจ และแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง (ใน 15 จังหวัด) เป้าหมาย 100 ธุรกิจ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองสำคัญมีประชากรและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมาก รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงสามารถเดินทางมาร่วมงานได้สะดวก โดยจะนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงธุรกิจ ครั้งละ 40 ธุรกิจ
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ในช่วงการจัดกิจกรรม ประมาณ 5,400 ราย และโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังจากการเจรจาขายแฟรนไชส์ได้อีก ประมาณ 4,600 ราย รวมผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปดำเนินธุรกิจทั่วประเทศประมาณ 10,000 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4,600 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการจัดงาน