xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เกาะติดจีนขอเข้า CPTPP เร่งประเมินประโยชน์-ผลกระทบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เกาะติดจีนขอเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ตลาดรวมใหญ่ขึ้น แต่ยังเล็กกว่า RCEP พบเบื้องต้นจีนจะแกร่งขึ้นในฐานะแหล่งวัตถุดิบ ฐานการผลิต การยกระดับมาตรฐาน เตรียมประเมินผลกระทบใหม่ หลังอังกฤษและจีนขอเข้าเป็นสมาชิก ทั้งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ การเข้าสู่ตลาด และประเด็นมาตรฐานโลกใหม่ ยันการเข้าร่วมของไทยยึดหลัก รอบคอบ รอบด้าน และต้องได้ไฟเขียวจากระดับนโยบาย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รับฝากความตกลง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ และจับตามองว่า ผลจากการที่จีนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อนับรวมจีนจะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 1,900 ล้านคน (25% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (30% ของ GDP โลก) แต่ขนาดของ CPTPP ยังเล็กกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ และปัจจุบันเป็นความตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 2,300 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากการสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีน จะเป็นการเพิ่มพันธมิตร และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศ CPTPP ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบ และฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

“ไทยต้องประเมินประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ หลังจีนและสหราชอาณาจักร ได้ขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งเรื่องการลด เลิกภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้สมาชิก CPTPP ได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิก แต่ก็มีเรื่องมาตรฐานโลกใหม่ เช่น สิทธิแรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ต้องติดตาม เพราะการเข้าร่วมของจีนอาจเป็นการนำเทรนด์ใหม่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ว่ามีความพร้อมที่จะรับและปฏิบัติตามมาตรฐานโลกใหม่นี้ เพื่อก้าวข้ามการที่ประเทศผู้นำเข้าอ้างเรื่องมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA กับสมาชิก CPTPP แล้วรวม 9 ประเทศ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบทวิภาคี คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู โดยยังขาดเม็กซิโก กับแคนาดาที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาในเร็วๆ นี้ จึงถือได้ว่าไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่ ส่วนการเข้าร่วมเจรจา FTA ของไทยจะมีกระบวนการศึกษาความพร้อม ประเมินผลประโยชน์ ผลกระทบ รับฟังความเห็น ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนเรื่อง CPTPP ได้ถูกยกระดับการพิจารณาไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ซึ่งมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ กนศ.


กำลังโหลดความคิดเห็น