xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาทุจริตฯ รับฟ้องคดี รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล “สีส้ม” “สุรพงษ์” เชื่อมั่นมีหลักฐานต่อสู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลอาญาทุจริตฯ นัดไต่สวนคดี “บีทีเอส” ฟ้อง กก.คัดเลือกสายสีส้มและผู้ว่าฯ รฟม. 25 ต.ค.นี้ กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล “สุรพงษ์” มั่นใจมีหลักฐานต่อสู้ ซัดกลับ รฟม.แจงคดีที่ศาลปกครองคลาดเคลื่อน ชี้ทำเข้าใจผิด

วันนี้ (16 ก.ย. 2564) เวลา 11.00 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยภายหลังการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้กำหนดนัดพร้อมคู่ความในคดี คือ บีทีเอส และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่บีทีเอสได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กรณีที่ผู้ว่าฯ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ โดยศาลได้สอบถามคู่ความแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไปพิจารณาพยานหลักฐานกันอีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. เนื่องจากทางโจทก์ และจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารเพิ่มเติม

ในวันนี้จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล ได้มอบหมายให้ทนายความมาแทน ซึ่งต่อจากนี้ในส่วนของทางคดี ก็คงต้องรอการไต่สวนตามที่ศาลกำหนดนัดต่อไปว่าสุดท้ายแล้วศาลจะมีคำพิพากษาออกมาว่าคดีมีมูลหรือไม่ต่อไป

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวซึ่งได้ปรึกษากับทีมทนายแล้ว คดีนี้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ มีความชัดเจนเป็นที่รับทราบทั่วไป ที่สำคัญคือพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและเอกสารต่างๆ ระบุชัดเจนว่าสิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม.ดำเนินการมามีประเด็นปัญหาในเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลเคยมีคำสั่ง ซึ่งส่งผลต่อการยื่นข้อเสนอและการพิจารณาผลในโครงการนี้อย่างแน่นอน
การที่เรานำคดีฟ้องเข้าสู่ศาลนี้ ได้ปรากฏพยานเอกสาร หลักฐานต่างๆ เพื่อนำมาพิสูจน์ความจริงและความถูกต้องในสิ่งที่เรายืนยัน ซึ่งเท่าที่เราได้รับเอกสารในสำนวนขณะนี้ เราพบว่ามีเอกสารหลายรายการที่เราพยายามขอเพื่อมายืนยันความเข้าใจของเราว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ แต่ก็ไม่เคยได้ มาวันนี้เอกสารบางอย่างนั้นมาปรากฏในชั้นศาลแล้ว ซึ่งตรงกับความเข้าใจของเราจึงยิ่งทำให้เรามีความเชื่อมั่นในการเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับประเด็นที่ผู้ว่าฯ รฟม.ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยสรุปว่าคดีความในศาลปกครองเสร็จสิ้นหมดแล้ว คงเหลือคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพียงคดีเดียว และจะเดินหน้าการประมูลโครงการนี้ โดยจะสามารถออกทีโออาร์ใหม่ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ต้องขอทำความเข้าใจผ่านสื่อไปถึงคณะกรรมการคัดเลือกทุกท่าน ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และอาจจะต้องนำเรียนไปยังรัฐบาลว่าบีทีเอสมีคดีความกับ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก 3 คดี แยกเป็นคดีปกครอง 2 คดี และคดีอาญาทุจริต 1 คดี

เรายืนยันว่าทั้ง 3 คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ได้เสร็จสิ้นไปตามที่ผู้ว่าฯ รฟม.แถลงคดีปกครองที่บีทีเอสฟ้อง 2 เรื่อง เรื่องแรกบีทีเอสฟ้องว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกภายหลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและเปิดจำหน่ายซองเอกสารประมูลไปแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบและก่อให้เกิดความเสียหายในทางละเมิดต่อบีทีเอส ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว และในระหว่างการพิจารณาคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับไม่ให้ รฟม.นำหลักเกณฑ์ใหม่มาใช้บังคับและขอเรียกร้องค่าเสียหายในคดีละเมิด

ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ในคดีนี้ศาลปกครองกลางเห็นว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ไม่ให้ รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขมาคัดเลือก และ รฟม.ได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด แต่ในระหว่างรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด รฟม.โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้ออกคำสั่งยกเลิกประกาศเชิญชวนประมูลโครงการนี้ และมาร้องต่อศาลขอให้ศาลจำหน่ายคดี โดยอ้างว่าได้ยกเลิกการประมูลในครั้งนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะพิจารณาว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบ

ซึ่งศาลพิจารณาแล้วได้อนุญาตให้จำหน่ายคดีที่บีทีเอสฟ้อง เรื่องการแก้ไขหลักเกณฑ์โดยไม่ชอบ แต่สำหรับเรื่องที่บีทีเอสฟ้องเรียกค่าเสียหายในเรื่อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกระทำละเมิดนั้น มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ยังคงต้องพิจารณากันต่อไป

คดีที่สอง เป็นคดีที่บีทีเอสฟ้องว่า มติคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศ รฟม.ที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือยกเลิกมติ และประกาศดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม.กระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาท ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกคำขอที่บีทีเอสขอในเรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ ในเรื่องการคัดเลือกเอกชน ส่วนเรื่องการยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบยังอยู่ในการพิจารณา

โดยสรุปแล้ว คดีความที่บีทีเอสฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 3 เรื่อง ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของทั้งศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดังนั้น การแถลงข่าวของผู้ว่าฯ รฟม.ข้างต้นจึงไม่ตรงกับความจริง

ส่วนประเด็นที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ทางบีทีเอสไม่ขัดข้องและเคารพในคำตัดสินของศาล แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราพร้อมเข้าร่วมแข่งขันในกฎกติกา และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม แต่หากกติกาที่จะออกมาใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการโครงการที่ สคร.ได้เคยนำเสนอ ครม.จน ครม.มีมติเห็นชอบ และคณะกรรมการคัดเลือกเอาหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน จนมาออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนแล้ว เราเห็นว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ล้วนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

นับตั้งแต่เกิดปัญหาการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนมาจนถึงวันนี้เวลาผ่านมาปีเศษแล้ว เรื่องนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณเป็นแสนล้าน หากไม่เป็นประเด็นปัญหาซับซ้อนคงไม่ถูกปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานเช่นนี้ ทางเราอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงปล่อยให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปเรื่อยๆ เช่นนี้คงไม่เกิดประโยชน์ โดยในวันที่ 17 ก.ย. บีทีเอสจะออกหนังสือไปยังผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ลงมาแก้ไขปัญหาและทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น