รฟม.เคลียร์คดีบีทีเอสฟ้องละเมิดเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งไม่รับฟ้อง “ผู้ว่าฯ รฟม.” คาดขายซอง ต.ค. 64 ยื่นข้อเสนอ ม.ค. 65 ชง ครม.อนุมัติ เม.ย. 65 ลุยงานระบบด้านตะวันออกเร่งเปิดบริการปี 68
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ย. 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 โดยยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ รฟม. เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ โดยมีเหตุผลว่าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ศาลปกครองไม่อาจมีคำสั่งกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.กระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ สรุปประเด็นการฟ้องคดีทั้งหมดเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ว่า ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่อท.30/2564
โดยคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป
ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป
สำหรับคดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยังอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งยังไม่ได้รับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า เมื่อคดีที่เอกชนฟ้องรฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ห้ามการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ศาลปกครองสิ้นสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า รฟม.ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยหลังจากนี้ รฟม.เตรียมเสนอร่างเอกสารประกาศเชิญชวน (RFP) ให้คณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณาในเดือนก.ย.-ค.ต. 64 ตามแผนงานล่าสุดจะเปิดขายเอกสารเชิญชวนเดือน ต.ค. 2564 ให้เวลาในการทำข้อเสนอ 90 วัน กำหนดยื่นข้อเสนอช่วงเดือน ม.ค. 2565 ใช้เวลาประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรอง ประมาณ 3 เดือน คาดจะคัดเลือกผู้เสนอเงื่อนไขเป็นประโยชน์ต่อ รฟม.ดีที่สุดและเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกได้ประมาณเดือน เม.ย. 2565
ส่วนแผนการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้าไปมากแล้วนั้น หลังจากได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนแล้วจะสามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการติดตั้งงานระบบของสายสีส้มด้านตะวันออกได้ทันที โดยยังคงเป้าหมายเปิดเดินรถด้านตะวันออกช่วงต้นปี 2568 และเปิดตลอดสายช่วงไตรมาส 3 ปี2570
ซึ่งจากทีโออาร์ของสีส้มเดิมที่มีเงื่อนไข ระยะเวลาร่วมลงทุนในระยะที่ 1 จะเป็นการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้งทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน ซึ่งจะมีการปรับลดระยะเวลาในส่วนนี้ลงและ รฟม.จะเจรจากับเอกชนเร่งรัดการทำงานด้วย เพื่อให้เปิดเดินรถได้ในปี 68 ตามกำหนดเดิม
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)