ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ต.เขาไม้แก้ว ปราจีนบุรี ชี้ ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ต้องห้ามตามกฎผังเมืองรวม
วันนี้ (15 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกให้แก่บริษัท เค เอส มาร์เก็ตติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตดังกล่าว และให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาไม้แก้ว โดยนายก อบต. เขาไม้แก้ว ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แล้วแต่กรณี กับการที่บริษัทก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า ในระหว่างที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทอยู่นั้น พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของโรงงานพิพาทได้มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลทำให้ต้องนำ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับในพื้นที่ตั้งโรงงานพิพาทของบริษัทด้วย ดังนั้น นับแต่เวลาดังกล่าว การก่อสร้างอาคารโรงงานของบริษัท ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น การก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการโรงงานพิพาทจึงต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มิใช่เป็นกรณีที่บริษัท มีสิทธิก่อสร้างอาคารโรงงานโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตอีกต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2555 ในพื้นที่ที่ตั้งโรงงานพิพาทแล้ว การใช้ประโยชน์ในที่ดินก็จะต้องไม่ผิดไปจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2518 ด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พื้นที่ตำบลเขาไม้แก้วซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานพิพาทถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม หรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การอยู่อาศัย สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ต้องห้ามใช้ประโยชน์ประกอบกิจการโรงงานทุกจำพวก อีกทั้งโรงงานไฟฟ้าไม่ใช่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่ให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 9.9 เมกะวัตต์ ของบริษัท จึงเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม หรือปฏิบัติการใดๆ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองรวม ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518
และเมื่อการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทจะต้องมีการก่อสร้างอาคารโรงงานแล้ว การใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 จึงต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินต้องได้ใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้ว จึงจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานในสำนวนคดี ว่า นับแต่ที่บริษัทยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานพิพาท เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2553 จนถึงวันที่ 2 พ.ย. 2555 ที่มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2555 บริษัทฯ เพียงแต่ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่และจัดหาวัสดุก่อสร้างเพื่อเตรียมการก่อสร้างอาคารโรงงานเท่านั้น ยังไม่ได้เริ่มลงมือดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานพิพาท
ส่วนการขุดสระน้ำหรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ในที่ดินที่ตั้งโรงงานที่มีประชาชนร้องเรียนนั้น เห็นว่า การขุดบ่อเก็บน้ำดิบดังกล่าว บริษัทเพิ่งเริ่มดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ในวันที่ 30 พ.ค. 2556 อันเป็นเวลาภายหลังมีประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2555 อีกทั้งเป็นการขุดดินถมดินโดยที่ยังไม่ได้รับใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ. การขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 กรณีจึงไม่อาจถือว่า บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมและจะใช้ที่ดินเช่นนั้นต่อไป ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ดังนั้น การประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า รวม 9.9 เมกะวัตต์ ตามคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2553 ของบริษัท จึงต้องห้ามตามข้อ 11 วรรคสอง (1) ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2555 และไม่อาจถือเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่มีที่ตั้งในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2559) ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.5) 02-58/2556 ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-88-43/56ปจ ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ให้แก่บริษัท เค เอส มาร์เก็ตติ้งฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย