ปตท.สผ.เตรียมหารือหน่วยงานรัฐเพื่อขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาในโครงการเอราวัณหลังจากไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ตามกำหนด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซในโครงการเอราวัณต่ำกว่าที่ระบุในสัญญา PSC ราว 50%
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมหารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) หลังจาก ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตในโครงการเอราวัณได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหลังสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2565 โดยเบื้องต้นบริษัทคาดว่าปริมาณก๊าซในแหล่งเอราวัณจะหายไปต่ำกว่าสัญญา PSC เกือบ 50% หรือราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ดังนั้น ปตท.สผ.มีแผนจะผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เข้ามาชดเชย รวมทั้ง ปตท.ในฐานะผู้บริหารก๊าซฯ ในอ่าวมีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาเสริม และเร่งผลิตก๊าซจากแหล่ง JDA เข้ามาทดแทนก๊าซฯ ที่ขาดหายไป ขณะนี้ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเอราวัณ หาก ปตท.สผ.บริหารไม่ดีย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าได้ และมั่นใจว่าจะไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นนี้
“บริษัทคาดว่าจะรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชให้อยู่ระดับปัจจุบันที่ 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา PSC ที่ระบุไว้ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปริมาณก๊าซส่วนเกินนี้จะนำมาชดเชยก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่หายไป เบื้องต้นบริษัทมั่นใจว่าทำสัญญาข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งในแหล่งบงกช (G2) ได้ภายในปีนี้”
นายพงศธรกล่าวว่า จากการหารือเบื้องต้นกับทางหน่วยงานรัฐเพื่อขอปรับเงื่อนไขต่างๆ ในโครงการเอราวัณตามสัญญา PSC ทางภาครัฐก็รับฟัง เข้าใจและเห็นใจ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เชื่อว่าหน่วยงานรัฐพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ
ความคืบหน้าโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่โมซัมบิกที่ได้หยุดไปหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ในต้นปี 2565 โครงการดังกล่าวจะกลับมาก่อสร้างได้อีกครั้ง หลังจากมีกองกำลังร่วมจากกลุ่มประเทศแอฟริกาเข้าควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในโมซัมบิก โดยโททาลฯ ในฐานะผู้ดำเนินการมั่นใจว่าโครงการโมซัมบิกจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนดการเดิมในปลายปี 2467
ทั้งนี้ โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน จะประกอบด้วย 2 สายการผลิต (train) มีกำลังการผลิตรวม 13 ล้านตันต่อปีจากแหล่งโกลฟินโญ-อาตุม
ส่วนเป้าหมายการขายปิโตรเลียมในปี 2564 บริษัทได้ปรับเป้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.12 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันต่อวัน เนื่องจากรับรู้ปริมาณการขายปิโตรเลียมจากแปลง 61 ที่โอมาน และปีหน้าบริษัทจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นพอสมควร เนื่องจากรับรู้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายจากโครงการบงกชและแหล่งเอราวัณเพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการที่แอลจีเรีย