อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกำลังนับถอยหลังที่จะเข้าสู่ฤดูการเปิดหีบในปี 2564/65 ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งหลายฝ่ายต่างหมายมั่นว่าผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปีนี้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85-90 ล้านตันด้วยเพราะปริมาณฝนที่ตกมาแบบต่อเนื่องซึ่งเอื้อต่อผลผลิตอ้อยให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมาสู่การฟื้นตัวหลังจากที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในฤดูหีบที่ผ่านมาเนื่องจากเผชิญภาวะแห้งแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี
ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ส่งสัญญาณสดใสที่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จึงทำให้เห็นแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูหีบปีหน้า (ปี 2565/66) ยังคงมีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกับฤดูหีบปี 2564/65 จึงทำให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ออกประกาศประกันราคารับซื้ออ้อยสดขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 C.C.S. ซึ่งเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีนี้ (2564/2565) ต่อไปอีกถึงปี 2565/66 เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
ทั้งนี้ “อ้อย” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจของไทยสูงถึงปีละไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีส่วนผลักดันให้เกิดการส่งออกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายติดอันดับ 2-3 ของโลกมาอย่างยาวนาน เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรนับ 4 แสนครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งอาหาร ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกลการเกษตร ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี
57 โรงงานบูตผลผลิต 100 ล้านตันสร้างสมดุล
โรงงานน้ำตาลเป็นส่วนสำคัญในการแปรรูปผลผลิตอ้อยสู่น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว กากน้ำตาล รวมไปถึงการต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันไทยมีโรงงานที่พร้อมหีบอ้อย 57 แห่ง โดยมีอัตรากำลังการผลิตอ้อยถึง 1.10 ล้านตันต่อวัน ซึ่งหากจะให้สมดุลแล้วจะต้องมีปริมาณอ้อยอย่างต่ำ 100 ล้านตันขึ้นไป แต่ในช่วงระยะ 2 ปีอ้อยได้ลดลงต่อเนื่องจากภัยแล้งและราคาอ้อยที่ไม่สูงนักทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงอ้อยข้ามเขตเกิดขึ้น
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL และในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมุมมองปัญหาดังกล่าวว่า ฤดูหีบปีนี้ที่คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงต้น ธ.ค. 64 การแย่งชิงอ้อยน่าจะลดต่ำลงเนื่องจากปริมาณอ้อยคาดการณ์ว่าจะมีไม่น้อยกว่า 85 ล้านตันจากฤดูฝนที่ปริมาณฝนมาสม่ำเสมอ ประกอบกับการที่โรงงานน้ำตาลทรายได้รับประกันซื้ออ้อยสดที่ 1,000 บาทต่อตันที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565/66
“เราคาดหวังว่าในฤดูหีบปี 2565/66 จะมีผลผลิตอ้อยอยู่ระดับ 100 ล้านตันขึ้นไป ซึ่งกลับไปสู่จุดสมดุลอีกครั้งกับจำนวนโรงงานที่มี โดยการรับประกันราคาอ้อยสดไว้ 1,000 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 C.C.S. ซึ่งจะได้ถึงกว่า 1,000 บาทต่อตันแน่นอนเมื่อรวมค่าความหวานแล้ว และมุมมองของผมการแย่งซื้ออ้อยก็เป็นเรื่องปกติในธุรกิจเช่นเดียวกับสินค้าอื่นที่มีโปรโมชัน ก็ขึ้นอยู่แต่ละรายว่าจะรับกับต้นทุนได้ไหม แต่ความสมดุลคือสิ่งที่ดีสุดต่อทุกฝ่าย” นายชลัสกล่าว
เขาชี้ว่า “น้ำตาล” เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจึงทำให้สามารถเห็นสัญญาณราคาตลาดโลกที่ราคาน้ำตาลทรายดิบยังทรงตัวระดับสูง การส่งสัญญาณให้ชาวไร่รู้ล่วงหน้าด้วยการประกันราคารับซื้อดังกล่าวเพื่อให้การันตีถึงผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่อ้อยในการเตรียมพันธุ์อ้อยมาปลูกเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาคอีสานในช่วง ต.ค.นี้ ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะใกล้ 1-2 ปีนี้จะเป็นขาขึ้นแน่นอน
“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีวงจรในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมากนับแสนๆ ล้านบาทต่อปี เฉพาะส่งออกก็ 8-9 หมื่นล้านบาทนำเงินตรากลับมาประเทศ เรายังเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรจำนวนมากที่เป็นคนไทยในการเพาะปลูก อุตสาหกรรมปุ๋ย เครื่องจักรกล ฯลฯ เมื่อโควิด-19 ระบาดเราจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะระดับฐานราก” นายชลัสกล่าวย้ำ
ราคาอ้อย 1,200-1,300 บาท/ตัน ความหวังของชาวไร่
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ราคาที่โรงงานประกันการรับซื้ออ้อยสด 1,000 บาทต่อตัน (10 C.C.S.) ที่จะต่อเนื่องไปถึงปี 2565/66 ซึ่งจะต้องมีการเริ่มเพาะปลูกใหม่ช่วง ต.ค.นี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยรายเดิมที่มีพื้นที่เหลืออาจตัดสินใจเพิ่มการปลูกอ้อยใหม่ได้ หรือ รื้อตออ้อยเก่าเพื่อปลูกใหม่เพราะผลผลิตจะดีกว่า แต่รายใหม่เลยที่จะเปลี่ยนใจจากพืชเกษตรตัวอื่นๆเข้ามาปลูกอ้อยนั้นอาจจะมีน้อยเนื่องจากราคามันสำปะหลัง ข้าว ภาพรวมยังมีราคาที่ดี ดังนั้นในแง่ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนัก
“ราคาอ้อยสด 1,000 บาทต่อตันก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่น โดยหากราคาประกาศที่ 1,200-1,300 บาทต่อตันจะทำให้เอื้อต่อการปลูกอ้อยเพิ่มมากกว่าซึ่งอดีตก็เคยวิ่งไปสูงระดับนี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ตัดอ้อยสดที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูกอื่นๆ ตั้งแต่ค่าปุ๋ย ยา ฯลฯ ล้วนแต่ก็ปรับขึ้นมาต่อเนื่องระดับ 1,000 บาทต่อตันแค่จุดพอเลี้ยงตัวเองได้ไม่ได้มีกำไรอะไรมาก” นายนราธิปกล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตาม ในอดีตเกษตรกรปลูกอ้อยรายย่อยจะบูมมากเพราะพืชอื่นๆ ตกต่ำ และพอเขาเข้ามาทำจริงๆ แล้วเจออุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการตัดอ้อยสด การขายที่ต้องอาศัยคนกลาง เพราะต้องขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน ต่างจากพืชอื่นที่เก็บเกี่ยวแล้วขายได้เลยทันที ทำให้รัฐพยายามจะส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นแปลงใหญ่แต่ก็ไม่ง่ายนัก ขณะที่หากมองในแง่ของโรงงาน 57 แห่งกับกำลังการผลิตที่มี 1.10 ล้านตันต่อวันจุดคุ้มทุนควรต้องมีปริมาณอ้อย 120 ล้านตันขึ้นไปซึ่งอดีตไทยเคยขึ้นไปแตะกว่า 130 ล้านตันมาแล้ว แต่ช่วง 2 ปีนี้ลดลงมากจึงเกิดการแย่งรับซื้ออ้อยข้ามเขตสูง และปีนี้ก็ยังคิดว่ามีอยู่โดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วงหีบว่าสูงพอจะจูงใจให้โรงงานบางแห่งดำเนินการแย่งซื้ออ้อยมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะภาคอีสาน
“การที่ผลผลิตอ้อยเราถดถอยมาเพราะภัยแล้ง ราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ ต่อเนื่องทำให้ไม่มีกำไรที่จะไปต่อ และ 2 ปีมานี้นโยบายรัฐก็ส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 จึงช่วยเหลือเฉพาะต้นทุนการตัดอ้อยสดแต่ยังคงไม่ได้พิจารณาช่วยเหลือต้นทุนการปลูกอ้อยที่แท้จริงภาพรวม ดังนั้นราคาอ้อยจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต แต่ก็แน่นอนว่าสิ่งที่ดีสุดคือความสมดุลเพราะถ้าปลูกมากเกินราคาก็ต่ำอีกเช่นกัน” นายนราธิปกล่าว
ราคาน้ำตาลตลาดโลกขาขึ้นจากบราซิลเจอแล้ง
นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ประมาณ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ และหากมองแนวโน้มราคาซื้อขายล่วงหน้าปีหน้าคาดว่าจะไม่ต่ำไปกว่าระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์เนื่องจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่สุดของโลกประสบปัญหาภาวะภัยแล้งทำให้หลายฝ่ายมองว่าผลผลิตจะลดต่ำลงจึงทำให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ทยอยปรับขึ้น แนวโน้มการส่งออกของบราซิลในฤดูหีบปี 2564/65 จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
“บราซิลประสบกับภาวะภัยแล้งที่จะทำให้อ้อยลดลงราว 30-40 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเขต CS Brazil แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือกรณีราคาน้ำมันหากมีการปรับตัวสูงขึ้นบราซิลเองก็จะปันส่วนอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น จะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลงที่อันนี้จะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาลอย่างมีนัยสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด” นายอภิชาติกล่าว
ทั้งนี้ อนท.ได้ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าในฤดูหีบปี 2564/65 ไปแล้วประมาณ 30% โดยทำราคาเฉลี่ยได้ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) นับเป็นราคาที่ดีสุดที่เคยทำได้ในรอบ 5-6 ปี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบยังเหลือที่ต้องทำราคาอีกพอสมควร แต่เราก็หวังว่าจะทำราคาที่เหลือได้ในระดับที่สูงและจะทำให้ค่าเฉลี่ยราคาได้ 17.5-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) แน่นอนว่าระดับราคาดังกล่าวนี้จึงทำให้โรงงานสามารถประกันราคารับซื้ออ้อยสดที่ระดับ 1,000 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 C.C.S.) ต่อไปได้อีก 1 ปี
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบที่กำลังจะมาถึง (ปี 64/65) มีแนวโน้มว่าอ้อยจะเฉลี่ยระดับ 85 ล้านตันบวกลบนั้นจะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกจะเพิ่มอีกราว 2 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสของการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยที่เพิ่มขึ้นที่เป็นจังหวะของราคาตลาดโลกที่สูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจึงเอื้อให้การส่งออกของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นตามไปด้วย และฤดูหีบปี 2565/66 ที่คาดหวังว่าอ้อยจะอยู่ในระดับ 100 ล้านตันก็จะทำให้น้ำตาลของไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มอีกต่อเนื่องที่สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีแนวโน้มยังทรงตัวระดับสูง
“ผลผลิตน้ำตาลของโลกยังอยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการบริโภค แต่ก็ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะน้ำตาลเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ซื้อขายล่วงหน้าเราก็ต้องมองจังหวะของการซื้อขายให้ดี แต่หากให้ประเมินระยะสั้น 1-2 ปีนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือเป็นช่วงขาขึ้นชัดเจน” นายอภิชาติกล่าว
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ะระบาดต่อเนื่องและกระทบให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหา ทำให้แรงงานต้องตกงาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลง หลายประเทศเริ่มหันมาใช้นโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น
แน่นอนว่าภาพสะท้อนมุมมองของกูรูด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าวจึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน รัฐ โรงงาน ชาวไร่ ต้องกำหนดอนาคตร่วมกัน