โครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงเป็นนโยบายเอาไว้ และได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปี 2 โดยหลายโครงการได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่เกษตรกรที่ได้รับการดูแลจากโครงการประกันรายได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ตั้งคำถามว่าโครงการจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เงินงบประมาณมีจำกัดเพราะต้องนำไปใช้ต่อสู้โควิด-19 และโครงการที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่รับผิดชอบโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรหลัก 4 ชนิด จากทั้งหมด 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดย ยางพารา อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันว่าโครงการประกันรายได้ปี 3 มาแน่นอน เพราะยังจำเป็นต้องนำมาใช้ในการดูแลเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีหลักประกันในเรื่องรายได้ที่แน่นอน เพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ปี 3 ต้องมีเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ตราบใดที่รัฐบาลยังบริหารประเทศโครงการนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อเป็นหลักประกันในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่แน่นอน หากราคาสินค้าเกษตรที่ขายได้ในช่วงนั้นๆ มีราคาต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้เอาไว้ ก็จะได้รับส่วนต่างเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่เกษตรกร แต่ถ้าช่วงนั้นๆ ราคาสูงกว่าประกันรายได้ เกษตรกรก็ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมคณะอนุกรรมการที่กำกับดูแลพืชเกษตรทั้ง 4 ชนิดที่อยู่ในความดูแลแล้ว เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกันรายได้สำหรับปีที่ 3 รวมทั้งมาตรการเสริมที่จะนำมาใช้ในการผลักดันราคาแล้ว”
โชว์ผลสำเร็จโครงการปี 2
ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดโครงการประกันรายได้ปี 3 นายจุรินทร์ได้สรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ปี 2 โดยมีเกษตรกรได้ประโยชน์รวมทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน แยกเป็น ข้าว 4.5 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.78 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 5.2 แสนครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 3.7 แสนครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.5 แสนครัวเรือน
นายจุรินทร์บอกว่า บางช่วงหลายครัวเรือนได้รับส่วนต่างที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้แบบเป็นกอบเป็นกำ เช่น ข้าวหอมมะลิ มีผู้ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 42,830 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ รับสูงสุด 41,680 บาท ข้าวเปลือกเจ้า รับสูงสุด 36,670 บาท ข้าวหอมปทุมธานี รับสูงสุด 26,674 บาทต่อครัวเรือน และข้าวเหนียว รับสูงสุด 33,350 บาท ส่วนมันสำปะหลัง รับสูงสุด 26,000 บาท เป็นต้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงพาณิชย์จะปล่อยให้ราคาตกต่ำจนรัฐบาลต้องเข้าไปจ่ายชดเชย เพราะเป้าหมายของโครงการประกันรายได้ คือ ช่วยดูแลเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้ แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าใช้มาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันราคาให้สูงขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่าง สินค้าเกษตรที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันราคา เช่น ปาล์มน้ำมัน มีมาตรการกำกับดูแลการนำเข้า การดูแลการซื้อขาย การเร่งระบายสต๊อก การเร่งรัดส่งออก ในช่วงที่สต๊อกมีมาก ส่งผลให้ปัจจุบันราคาขยับขึ้นเกินไปกว่าราคาประกันรายได้ จนทำให้รัฐบาลประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยรายได้ไปได้มาก ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมาตรการให้สินเชื่อเก็บสต๊อก ดูแลการนำเข้า ดูแลการซื้อขาย ส่งผลให้ราคาปัจจุบันขยับขึ้นเกินราคาประกันรายได้อีกตัว และมันมีมาตรการดูแลการนำเข้า เร่งรัดการส่งออก จนปัจจุบันราคาใกล้เคียงกับราคาประกันรายได้
ส่วนข้าวเปลือก มีบางช่วงบางเวลาที่ราคาข้าวเปลือกบางชนิดไม่ต้องจ่ายชดเชยประกันรายได้ เพราะราคาสูงกว่าที่ประกันเอาไว้ ขณะที่ยางพารา มีบางช่วงที่ราคาสูงกว่าราคาประกันรายได้ ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยก็มี ซึ่งส่งผลดีต่อการจ่ายเงินของรัฐบาลที่ประหยัดได้มากขึ้น
เคาะประกันรายได้ข้าวตัวแรก
หลังจากที่โครงการประกันรายได้ปี 2 ใกล้ที่จะสิ้นสุดโครงการ นายจุรินทร์ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อม เร่งประชุมคณะอนุกรรมการที่กำกับดูแลสินค้าเกษตรแต่ละชนิดโดยเร็ว เพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพราะเมื่อคณะอนุกรรมการเห็นชอบแล้วก็ต้องมีขั้นตอนเสนอให้คณะกรรมการที่ดูแลพืชเกษตรแต่ละชนิดพิจารณาเห็นชอบอีก จากนั้นถึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อเดินหน้าโครงการ เพราะหากไปเร่งรีบทำตอนใกล้ๆ โครงการหมดอายุจะไม่ทันการณ์เอา
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยได้มีมติเห็นชอบในการเดินหน้านโยบายประกันรายได้สินค้าข้าว ซึ่งเป็นการนับหนึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 3 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับโครงการปี 2 และจากนี้จะนำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 ถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 และภาคใต้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2564 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 ส่วนการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564-พ.ค. 2565 ประกาศทุกวันศุกร์ งวดแรกเริ่มวันศุกร์ที่ 15 ต.ค. 2564 โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2564 และงวดสุดท้ายจะประกาศวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. 2565 สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันที่คาดว่าเก็บเกี่ยวจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 รวมจำนวน 33 งวด
สำหรับมาตรการคู่ขนานที่จะเข้ามาช่วยเสริมเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมี 3 มาตรการ โดย 1. สนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขายในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวราคาตกจนเกินไป โดยเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท 2. ช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์หรือโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวและไม่ปล่อยออกสู่ตลาด โดยชดเชยดอกเบี้ย 3% และ 3. เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกข้าวเพื่อระบายข้าวในประเทศ เพราะฤดูกาลผลิตหน้าจะมีข้าวออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 26 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการส่งออกข้าวโดยช่วยดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 6 เดือน ในเดือน ต.ค. 2564 ถึง มี.ค. 2565
จากนั้น วันที่ 23 ส.ค. 2564 ที่ประชุม นบข.ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 หรือประกันรายได้ข้าวปี 3 โดยเป็นการประกันรายได้ให้แก่ชาวนาที่ปลูกข้าว 5 ชนิด ในราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้าไม่เกิน 50 ไร่ รวม 4.69 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 89,306.39 ล้านบาท และจะนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติอีกครั้งหนึ่ง
ข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันตามมาติดๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 นายจุรินทร์ได้เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ที่ดูแลสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในโครงการประกันรายได้ปี 3 และมาตรการเสริมที่จะใช้ผลักดันราคา
โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้มีมติเห็นชอบในการเดินหน้านโยบายประกันรายได้ ปีการผลิต 2564/65 เป็นปีที่ 3 โดยใช้หลักการเดียวกับประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2 ที่กำหนดราคาเป้าหมาย 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวนประมาณ 452,000 ครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564-31 พ.ค. 2565 งวดแรกจะเริ่มจ่ายให้เกษตรกรวันที่ 20 พ.ย. 2564 งวดต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือน งวดสุดท้าย 20 ต.ค. 2565 รวม 12 งวด วงเงินงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
ส่วนมาตรการคู่ขนานที่จะเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพด กำหนดมาตรการให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการเร่งการรับซื้อและเก็บสต๊อกไว้ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยได้รับชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี เป้าหมายรวม 350,000 ตัน ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 150,000 ตัน และ 2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมาย 200,000 ตัน
สำหรับปาล์มน้ำมัน ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ปี 3 โดยกำหนดราคาเป้าหมาย 4 บาทต่อ กก. ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ต่อกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับความช่วยเหลือทุกครัวเรือนตามพื้นที่ที่ปลูกจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2564-ก.ย. 2565 โดยจะจ่ายงวดที่ 1 วันที่ 15 ก.ย. 2564 วงเงินงบประมาณ 7,660 ล้านบาท
โดยมาตรการเสริมคู่ขนานเพื่อแก้ไขปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน จะสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาท เพื่อผลักดันน้ำมันปาล์มดิบออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาส่งออกเดือน ก.ย. 2564 เป็น ธ.ค. 2564 และขยายเวลาโครงการจากเดือน ธ.ค. 2564 เป็น มี.ค. 2565 ภายใต้เป้าหมายเดิมที่ 300,000 ตัน และในปี 2565 เป้าหมาย 150,000 ตัน โดยจะเสนอขอใช้งบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการการส่งออก เมื่อระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก
เคาะลุยโครงการมันสำปะหลังปี 3
ถัดมาวันที่ 19 ส.ค. 2564 นายจุรินทร์ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Zoom โดยได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 3 เหมือนกับปี 1 และปี 2 ยกเว้นระยะเวลาการรับสิทธิ์ของเกษตรกรที่จะครอบคลุมเกษตรกรอย่างทั่วถึงมากขึ้น
หลักเกณฑ์การประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ คือ มันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ไม่ซ้ำแปลง ผู้มีสิทธิ์ได้รับการชดเชยขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลังต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีวันเพาะปลูกตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563-31 มี.ค. 2565 และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน ระยะเวลาชดเชยส่วนต่าง 1 ธ.ค. 2564-1 พ.ย. 2565 ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 2564-31 พ.ค. 2566 วงเงินงบประมาณ 6,811 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการที่จะเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ที่ตกหล่นของเกษตรกรที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เม.ย. 2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธ.ค. 2563 จำนวน 8 หมื่นกว่าราย และเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่เดิมสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ก.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มี.ค. 2565 เห็นชอบค่าขนส่งเพิ่มเติมภายใต้กรอบวงเงินค่าท่อนพันธุ์เดิมที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 24.8 ล้านบาท โดยใช้กรอบวงเงินเดิมที่เคยได้รับอนุมัติ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมครั้งนี้ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2564-2567 ถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะการทำเป็นยุทธศาสตร์นี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยวิสัยทัศน์ คือ ไทยต้องครองความเป็นผู้นำด้านการค้าและการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดีอันดับ 1 ของโลกอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมาย ดังนี้ 1. มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3% 2. ราคามันสำปะหลังภายในประเทศมีเสถียรภาพและเป็นธรรม และ 3. เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) ให้เชื้อแป้งสูงและมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 5 ตันภายในปี 2567
ยางพาราคิวต่อไป
สำหรับโครงการประกันรายได้ยางพารา เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าเงื่อนไขการรับประกันจะเหมือนกับปี 2 แต่จะมีการปรับปรุงรายละเอียดให้ดีขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด
สินค้าเกษตรอื่นไม่ทิ้งมีมาตรการดูแล
สำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ นายจุรินทร์กล่าวยืนยันว่ามีมาตรการดูแลทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ พืชเกษตรสำคัญ เช่น หัวหอม กระเทียม พริก ฟักทอง และผัก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ได้จัดเตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด อย่างผลไม้ภาคตะวันออก ได้เตรียมมาตรการไว้ตั้งแต่ต้นปี ทั้งการหาตลาดล่วงหน้า การผลักดันส่งออก พอช่วงผลไม้ออกก็ไม่มีปัญหาด้านราคา ทุเรียนราคาเกิน กก.ละ 100 บาท มังคุดเกรดพรีเมียม สูงถึง กก.ละ 200 บาท ส่วนภาคใต้ก็มีมาตรการรับมือเช่นเดียวกัน แต่จังหวะไม่ดี มาเจอสถานการณ์โควิด-19 เจอล็อกดาวน์ ก็เลยมีปัญหาบ้าง เช่น มังคุด แต่ก็ได้แก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ ตอนนี้ล้งได้เข้าไปรับซื้อ และได้ประสานห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วย จนราคาปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
ส่วนปัญหาลำไยภาคเหนือ ที่จีนสั่งห้ามนำเข้า ได้สั่งการให้ทูตเกษตรและทูตพาณิชย์เร่งเจรจากับทางการจีน โดยล่าสุดจีนได้ปลดล็อกอนุญาตให้โรงคัดบรรจุของไทย 56 ราย สามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ก็จะอนุมัติให้มีการส่งออกต่อไป
ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 2,562 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสินค้าเกษตร 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลไม้ พืชหัว พืชผัก ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ประมง กล้วยไม้แล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการดูแลเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีโครงการหลัก คือ โครงการประกันรายได้ ซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่ปี 3 และมีมาตรการเสริมในพืชเกษตรตัวอื่นๆ เพื่อนำมาช่วยดูแลราคาให้แก่เกษตรกร ให้สามารถขายผลผลิตได้คุ้มกับต้นทุนการผลิต และมีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพ