xs
xsm
sm
md
lg

ชู “ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” สุดยอดพืชเกษตรภูมิปัญญาท้องถิ่น เร่งพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชบุรี - สสก.2 ราชบุรี ชู “ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” เป็นสุดยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เผยมีประวัติยาวนาน เกษตรกรใช้ภูมิปัญญารักษาพันธุ์และเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ชาว อ.โพธาราม ปีละร่วม 2 ล้านบาท

นางธัญธิตา บุญญามณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 (สสก.2) จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรให้มีความสมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และสะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเกษตรกรและการประกอบอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่อดีตและยังคงมีการใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบัน เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มมีการสูญหายตามกาลเวลา เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ไม่มีผู้นำกลับมาใช้ประโยชน์ และมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น เพื่อให้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรคงอยู่ และมีการนำประยุกต์และผสมผสานพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการเกษตร ทางสำนักงานฯ จึงได้เข้าไปดำเนินการโครงการดังกล่าว

นางธัญธิตา กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการนี้เริ่มต้นจากสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรอย่างน้อย 1 ภูมิปัญญา จากนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สสก.2 ได้แก่ จ.กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ จ.สุพรรณบุรี พิจารณาคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่โดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์จังหวัดละ 1 ภูมิปัญญา รวมเป็น 8 ภูมิปัญญา เพื่อให้ สสก.2 พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 ภูมิปัญญา จากนั้นคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ภูมิปัญญา เพื่อเป็นจุดนำร่องดำเนินการถอดบทเรียน ค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนรวมทุกภาคส่วนในการเก็บรักษา พัฒนา และต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่า และรายได้จากสินค้า และบริการอัตลักษณ์ของชุมชน

ทั้งนี้ สสก.2 จ.ราชบุรี ได้ร่วมกับกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร พิจารณาคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง การอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวของจังหวัดราชบุรี เป็นจุดนำร่องของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งมีประวัติความเป็นมา จุดเด่น เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ และความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร

นางธัญธิตา กล่าวอีกว่า ตำบลคลองตาคต และตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี มีการปลูกข้าวโพดรับประทานฝักสดมาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบและราบลุ่ม มีแหล่งน้ำเพียงพอ สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี เกษตรกรจึงนิยมปลูกข้าวโพดรับประทานฝักสดกันมาก โดยเริ่มแรกเกษตรกรมีการปลูกข้าวโพดเทียนพันธุ์พื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปเนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดพันธุ์แปดแถวแทน ซึ่งพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวนี้ได้มาจากเกษตรกรในตำบลคลองตาคต คือ นายดำรง มินทนนท์ หรือลุงดำ ที่ได้พันธุ์มาจากเพื่อนคนหนึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน จึงนำมาปลูกครั้งแรกในพื้นที่ อ.โพธาราม และนำออกมาต้มขายที่หน้าวัดโบสถ์ ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะถูกใจในรสชาติความอร่อยของข้าวโพดพันธุ์นี้

ลักษณะเด่นของข้าวโพดแปดแถวนั้น มีขนาดฝักเล็ก มีเมล็ดเรียงตัวแน่น 8 แถว เมล็ดมีสีขาว มีความนุ่มและเหนียว รสชาติหวานเล็กน้อย กลิ่นหอม เมื่อรับประทานจะไม่ติดฟัน เกษตรกรในพื้นที่จึงหันมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่ด้วยพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวมีความอ่อนแอต่อโรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลายและสภาพภูมิอากาศมาก ทำให้ข้าวโพดฟันหลอ เมล็ดไม่ติดฝัก หรือเมื่อเจอลมพายุ ทำให้ต้นข้าวโพดล้ม ไม่ได้ผลผลิต

อีกทั้งปัจจุบันมีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด Fall armyworm ผลผลิตจึงได้น้อยเมื่อเทียบกับข้าวโพดพันธุ์อื่นๆ เกษตรกรจึงหันไปปลูกข้าวโพดพันธุ์อื่นควบคู่ไปกับข้าวโพดแปดแถวและเกษตรกรบางรายก็เลิกปลูกไปเพราะเห็นว่าดูแลรักษายาก ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดแปดแถวนั้นเหลืออยู่ไม่มาก เกษตรกรจึงได้นำภูมิปัญญาในการเก็บเมล็ดพันธุ์มาใช้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ของข้าวโพดแปดแถวให้ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปในพื้นถิ่น

ปัจจุบัน เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดแปดแถว จำนวนสมาชิก 31 ราย พื้นที่ปลูก 112.50 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ “ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” โดยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดปีละกว่า 1.7 ล้านบาท เฉลี่ยผลผลิต 1,000 กก./ไร่ ปีหนึ่งปลูกได้ 3-4 รอบ จำนวนสมาชิก 31 รายพื้นที่ปลูก 112.50 ไร่ รายได้เฉลี่ยไร่ละ 15,000 บาท

“สสก.2 จ.ราชบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี มีแผนดำเนินการจัดเวทีถอดบทเรียนตามขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จำนวน 4 เวที ได้แก่ เวทีที่ 1 เพื่อค้นหาองค์ความรู้ และปรับกระบวนทัศน์ เวทีที่ 2 เพื่อวิเคราะห์ชุมชนและร่วมกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาภูมิปัญญา เวทีที่ 3 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากภูมิปัญญาของชุมชน และกลไกขับเคลื่อนของชุมชน และเวทีที่ 4 เพื่อสรุปบทเรียน คืนข้อมูลสู่ชุมชน และร่วมกันวางแผนเชื่อมโยงแผนพัฒนากับเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชาวบ้านเพื่อสร้างคุณค่าและรายได้จากสินค้าและบริการอัตลักษณ์ของชุมชนต่อไป” นางธัญธิตา กล่าวในตอนท้าย












กำลังโหลดความคิดเห็น