คณะ กก.บริหารฯ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเจรจา ซี.พี.หลังเอกชนขอเลื่อนจ่ายค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เหตุผลกระทบโควิดผู้โดยสารลดเหลือไม่ถึง 2 หมื่นคน พร้อมถกแบ่งจ่าย 6 งวดยอดรวมเพิ่มเป็น 1.17 หมื่นล้าน ชง กก.กำกับและ กพอ.เห็นชอบแก้ไขสัญญาก่อน 24 ต.ค.
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ต.ค. 2564 นี้จะครบกำหนด 2 ปีที่บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) จะต้องชำระเงินค่าโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์
จำนวน 10,671.090 ล้านบาทให้ รฟท. เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในวันที่ 25 ต.ค. 2564 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะเวลาสัญญา 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท
เบื้องต้นกลุ่ม ซี.พี.ได้เสนอขอเลื่อนและขอแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์ จากเดิมจ่ายเป็นก้อนเดียว 10,671 ล้านบาทเป็นการแบ่งจ่ายรายปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมากจากเดิมเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน เหลือเพียง 1 หมื่นกว่าคนต่อวันเท่านั้น ส่วนการบริหารการเดินรถนั้น ทางบริษัทฯยืนยันพร้อมเข้าดำเนินการในเดือน ต.ค. 2564 ตามเงื่อนไข
แหล่งข่าวจาก รฟท.ระบุว่า ข้อเสนอของ ซี.พี.ขอเลื่อนและแบ่งชำระค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น มีคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่มี นายวรวุฒิ มาลา เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เป็นผู้พิจารณาเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการฯ ได้มีการหารือกับ รฟท.และซี.พี. โดยดูเงื่อนไขสัญญาว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งมีหัวข้อในเรื่องเหตุสุดวิสัย ซึ่งผลกระทบโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกินจากความคาดหมาย อีกทั้งไม่สามารถคาดหมายว่าจะยุติเมื่อใด
โดยบริษัทฯ ระบุถึงจำนวนผู้โดยสาร จากที่เคยมีกว่า 7 หมื่นคน/วัน เหลือไม่ถึง 2 หมื่นคน/วัน ล่าสุดมาตรการขอให้งดการเดินทาง ทำให้เหลือเพียง 1 หมื่นคน/วันเท่านั้น ในขณะที่การดำเนินธุรกิจอื่นๆ รัฐบาลก็มีมาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ดังนั้นจึงถือเป็นการดำเนินการตามกฎหมายทั่วไป โครงการในอีอีซีมีมาตรการกลาง ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบ มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา เมื่อทางซีพีเสนอมาจึงพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเจรจาไปตามหลักการ มีกรอบระยะเวลาในการเยียวยา ไม่ได้ให้คนเดียว
นอกจากนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ให้ รฟท.นำเงินค่าแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาทไปไถ่ถอนหนี้ ดังนั้น กรณีที่ไม่มีเงินไปชำระหนี้ บริษัทฯ จะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นด้วย หลักการ รฟท.จะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเลื่อนชำระนั้น ซี.พี.ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดแทน รฟท.
“ซี.พี.มีความพยายามในการทำกิจการต่อ แต่มีผลกระทบโควิด ส่งผลให้ผู้โดยสารน้อยลง ไม่เป็นไปตามคาดหมาย เป็นเหตุสุดวิสัย จึงขอผ่อนผันจากที่ตกลงในเงื่อนไขสัญญา ขอเลื่อนจ่ายเงินในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ออกไปก่อน หลักการ รฟท.จะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการฯ สรุปจะเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ที่มี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พิจารณาและเสนอ กพอ.และ ครม.อนุมัติก่อนวันที่ 24 ต.ค. 2564 และเพื่อแก้ไขสัญญาต่อไป”
@แบ่งจ่าย 6 ปี ยืนยัน 25 ต.ค. 64 รับบริหารตามกำหนด
รายงานข่าวเปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการฯ ได้เจรจากับบริษัทฯ และสรุปกรอบวงเงินค่าแอร์พอร์ตลิงก์กรณีแบ่งชำระ พร้อมดอกเบี้ยและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) จะอยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 10,671.090 ล้านบาท ประมาณ 1,034.373 ล้านบาท
แบ่งชำระออกเป็น 6 งวด (6 ปี) โดยปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% ปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% ส่วนจะเริ่มจ่ายงวดแรกเมื่อใดนั้น การหารือเห็นว่าควรให้โควิดระลอกล่าสุดยุติและประเมินมาตรการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางประกอบด้วย เพราะจะมีผลต่อปริมาณผู้โดยสารว่าจะกลับเป็นปกติช่วงใด
@รฟท.ยันเรื่องต้องผ่านคณะ กก.กำกับฯ ก่อน คาดชงบอร์ด 16 ก.ย.นี้
ด้านนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. กล่าวว่า ได้ทราบเบื้องต้นเรื่องที่ทางบริษัท รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินขอผ่อนปรนการจ่ายชำระค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์แล้ว แต่ขณะนี้ รฟท.ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งจะต้องดูว่าประเด็นที่ทางเอกชนขอมานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ รฟท.โดยตรง หรือต้องมีความเห็นจากทางฝ่ายนโยบายคืออีอีซีก่อน ทั้งนี้ รฟท.มีฐานะคู่สัญญามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา
รายงานข่าวจาก รฟท.เปิดเผยว่า ขณะนี้บอร์ด รฟท.ยังไม่สามารถพิจารณาใดๆ ได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขสัญญา ซึ่งตามขั้นตอนจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับโครงการฯ และคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานก่อน โดยตามกำหนด กบอ.จะประชุมวันที่ 13 ก.ย. และหากมีมติเป็นทางการอาจจะนำเสนอบอร์ด รฟท.ซึ่งจะประชุมในวันที่ 16 ก.ย.ได้ทัน
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบปริมาณผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-27 ส.ค. 64) พบว่ามีเฉลี่ย 1.1 หมื่นคน/วัน เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ช่วงปี 2562 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 7.1 หมื่นคน/วัน หรือลดลงประมาณ 87%