โดยทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โดดเด่นเป็นพิเศษมักว่าด้วยเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เห็นมูลค่าตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ประเทศไทย และชาติอาเซียนล้วนมีเรื่องราวเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งขยายบริบทความสัมพันธ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลไทยจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว ยังได้ร่วมขยายความร่วมมือเรื่องทรัพยากรน้ำไปสู่ระดับภูมิภาค โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) กับอาเซียน
“กลไกด้านน้ำที่ริเริ่มโดย MRC สามารถสร้างการทำงานร่วมกันในความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในภูมิภาคได้ จึงมีแนวคิดที่ขยายความร่วมมือด้านนี้ไปยังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศด้วย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
ในประเทศไทยเอง สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งยังคงมีอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อความมั่นคงด้านน้ำ รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตลอดจนน้ำข้ามพรมแดน
“สทนช.เองเน้นย้ำถึงการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเพื่อต่อสู้กับความท้าทายด้านน้ำ จึงต้องการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง”
เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า โดยภูมิประเทศของไทยมีพรมแดนติดต่อเพื่อนบ้านทั้ง 4 ด้าน และมีเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เพียงกระชับความร่วมมือในชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ชาติ ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้นเท่านั้น หากยังรวมถึงการประสานความร่วมมือกับชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มด้วย คือ จีน กับพม่า ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงมีความชัดเจนเป็นลำดับ นอกจากกำหนดแผนยุทธศาสตร์ MRC ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2564-2573) ยังปรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) ใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ การเข้าถึงและการใช้น้ำและทรัพยากรเกี่ยวข้องของชุมชน การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนครอบคลุมอย่างทั่วถึง การเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาคจากมุมมองทั้งลุ่มน้ำ
“ยุทธศาสตร์ของ MRC ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น การกำหนดแผนงานกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่มองการพัฒนาเฉพาะส่วน หากมองทั้งระบบลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันในหลายมิติ”
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน สทนช.หยิบเอาเรื่องน้ำมาเป็นตัวขับเคลื่อนความร่วมมือจริงจังยิ่งขึ้น ไทยกับมาเลเซียมีลุ่มน้ำโก-ลก เป็นความร่วมมือมาเนิ่นนาน และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์จนถึงวันนี้ ในฐานะมีแม่น้ำโก-ลกแบ่งพรมแดนกัน มีขอบเขตลุ่มน้ำใกล้เคียงกัน ยังมีโอกาสขยายการพัฒนาได้อีก
ไทยกับพม่ามีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งพรมแดนเช่นกัน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ในอนาคตยังจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน สทนช.มีความชัดเจนในทิศทางมากกว่าเดิมที่คุยกันเป็นครั้งคราว ยังรอการสานต่อที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
มีกรณีที่น่าสนใจคือ ไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน โดยมีพื้นที่รับน้ำโตนเลสาบอยู่ในฝั่งกัมพูชา ในขณะพื้นที่ฝั่งไทย ประกอบด้วย จ.สระแก้ว กับ จ.จันทบุรี เป็นหลัก มีแม่น้ำพรมโหด จ.สระแก้ว และคลองโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ไหลลงไปที่ราบต่ำกัมพูชา ก่อนลงโตนเลสาบตามลำดับ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบที่อยู่ฝั่งไทยกว่า 20% อีกกว่า 70% อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดของกัมพูชา
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ลักษณะลุ่มน้ำโตนเลสาบนั้น พื้นที่ในประเทศไทยถือเป็นต้นน้ำ กัมพูชาเป็นปลายน้ำ ไม่ได้เป็นแม่น้ำแบ่งเส้นพรมแดนเหมือนแม่น้ำโขง แต่แม่น้ำพรมโหดและคลองโป่งน้ำร้อนจากฝั่งไทยไหลลงฝั่งกัมพูชา ก่อนไหลต่อไปลงโตนเลสาบ แหล่งน้ำสำคัญของกัมพูชาที่รับน้ำจากแม่น้ำโขงด้วย
“ไทยเป็นประเทศต้นน้ำ ถ้าไม่ต้องสนใจใคร เราจะพัฒนาอะไรของเราเองได้หมด แต่ถ้าสร้างเขื่อนเก็บน้ำมากไป ระบายน้ำน้อยไปหรือมากไป ก็กระทบกัมพูชาที่อยู่ปลายน้ำและอยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน ในทางกลับกัน ถ้าร่วมมือพัฒนาด้วยกันทั้งระดับลุ่มน้ำโตนเลสาบ คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วม ก็จะเป็นผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ในฐานะเลขาธิการ สทนช. ดร.สมเกียรติ เปิดมุมมองการพัฒนาลุ่มน้ำระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา) ในมิติที่กว้างไกลขึ้นอย่างน่าสนใจ
การไม่ถือเอาประโยชน์จากการพัฒนาฝ่ายเดียว ไปเป็นการพัฒนาร่วมกันทั้งระบบลุ่มน้ำ จะเป็นคุณูปการต่อความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปด้วย ข้อนี้ดูเหมือนเลขาธิการ สทนช.มีประสบการณ์ตรงจากการร่วมมือพัฒนาแม่น้ำโก-ลก ระหว่างไทยกับมาเลเซียมาก่อนแล้ว
ขณะนี้การพัฒนาลุ่มน้ำโตนเลสาบเข้าสู่โค้งสุดท้าย คือการจัดลำดับความสำคัญและจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนา หลังจากผ่านการชี้ปัญหาและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาของประเทศเยอรมนี
โตนเลสาบ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการใช้น้ำเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งในเรื่องน้ำควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนที่น่าสนใจ