บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีและวางแผนการให้บริการ การดูแลช่วยเหลือเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ( EV) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดรับพันธมิตรร่วมขานรับนโยบายรัฐ ที่ส่งเสริมและกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
นายนพดล โพธิ์ขี ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ ผู้บริหารโครงการยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ DMT เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างพัฒนาการให้บริการช่วยเหลือสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยจากประสบการณ์ที่เป็นผู้ให้บริการทางยกระดับดอนเมือง ซึ่งเป็นทางหลวงสัมปทาน ที่ต้องคอยช่วยเหลือและให้บริการผู้ใช้ทางยกระดับมามากกว่า 30 ปี มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 แสนคันเป็นประจำทุกวัน โดยมีรถยนต์มาใช้บริการทางยกระดับหลายลักษณะ อาทิ รถยนต์ส่วนบุคคล รถบัสโดยสารสาธารณะ รถตู้ รถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นต้น
ดังนั้นหน่วยงานปฏิบัติการที่ให้บริการใกล้ชิดกับผู้ใช้ทางตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของรถยนต์จากการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมและกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
“ตามนโยบายการพัฒนาธุรกิจของบริษัทฯ เรามีนโยบาย 5 พ. ซึ่ง พ.ที่สำคัญนั้นก็มี พ. พัฒนาคน และ พ. พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองการให้บริการผู้ใช้ทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลง คนก็จะต้องมีการพัฒนาไปด้วย ซึ่งการเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่ง บริษัทฯ พบว่ามีรายงานการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มาใช้บริการทางยกระดับดอนเมืองโทล์ลเวย์ และมีเหตุการณ์รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขัดข้องบนทางยกระดับของเรา ทำให้บริษัทฯ เริ่มวางแผนการให้บริการแก้ไขปัญหากับยานยนต์เหล่านั้นอย่างทันท่วงที เช่น แบตเตอรี่หมด เราจะช่วยเหลือผู้ใช้ทางอย่างไร การเคลื่อนย้ายยานพาหนะ ก็มีความแตกต่างกับรถยนต์สันดาปทั่วไป เนื่องจากตำแหน่งจัดวางเครื่องยนต์ก็แตกต่างกัน การตรวจสอบสภาพก่อนการช่วยเหลือ รวมถึงการให้บริการชาร์จไฟฟ้า รถแต่ละรุ่นก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง ศึกษาและวางแผนเพื่อรองรับ โดยภาครัฐเองมีนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตามห้างสรรพสินค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม หรือแม้แต่สถานีให้บริการน้ำมันก็มีสถานีชาร์จไฟฟ้า ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ก็เป็นที่แน่นอนว่า บนทางด่วนนั้นจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยการมอบรางวัลสำหรับผู้ใช้ทางที่โชคดีในโครงการ Tollway Lucky Way “ใบเสร็จให้โชค” รางวัลที่ 1 เป็นการมอบรถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย” นายนพดลเผย
นายนพดลกล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ได้ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการออกไอเดียสำหรับการพัฒนาการทำงานของตนเอง ผ่านโครงการ “พนักงานนักพัฒนา” ภายใต้โครงการ “I Love DMT” ที่ให้พนักงานเสนอโครงการพัฒนางานที่เกิดจากการปฏิบัติงานของตนเองซึ่งเรื่องการให้บริการช่วยเหลือรถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้ประสบการณ์การทำงานจริง ควบคู่กับการศึกษาดูงานและเรียนรู้จากบริษัทฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า นำมาผนวกเข้ากับประสบการณ์การทำงาน มาออกแบบโครงการ ซึ่งจากผลการนำเสนอผลงานของพนักงาน ก็ได้ คู่มือการช่วยเหลือยานยนต์ไฟฟ้า การตรวจสภาพ การเคลื่อนย้ายยานยนต์ไฟฟ้า และอีกส่วนหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันให้บริการแก่รถยนต์ไฟฟ้า
นั่นก็คือ การหาอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบเคลื่อนที่ (Mobile Charging) สำหรับชาร์จไฟฟ้าชั่วคราวแบบ Quick Charge และการเคลื่อนย้ายรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่ให้บริการโดยพันธมิตร อีกทั้งการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าของบริษัทฯ สำหรับช่วยเหลือยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป และองค์ความรู้เหล่านี้บริษัทฯ ก็จะใช้ในการวางแผนปฏิบัติการ และพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นไป อีกทั้งสามารถต่อยอดไปเป็นผู้ให้บริการสำหรับทางด่วนสายอื่นๆ ในอนาคตที่ต้อง ดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไปอย่างแน่นอน