xs
xsm
sm
md
lg

OR โอดโควิด-19 ฉุดแผนขยายปั๊มทั้งใน-ตปท.พลาดเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” โอดแผนการขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ปีนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศพลาดเป้าจากผลกระทบโควิด-19 แต่การใช้งบลงทุนปีนี้อาจปรับลดลงมาก เหตุเจรจา M&A หลายโครงการ และเตรียมนำร่องเปิดตัว OR Space รูปแบบคล้ายคอมมูนิตีมอลล์ที่มีร้านค้าอาหารและเครื่องดื่ม และ EV Station จำนวน 1-2 แห่งในปลายปีนี้

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ในปี 2564 แผนการลงทุนในไทยของ OR ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 บ้าง โดยเป้าการขยายสาขาร้านคาเฟ่ อเมซอน และร้านไก่ทอดเท็กซัสยังทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 420 สาขา และ 20 สาขา ตามลำดับ แต่การขยายสาขาสถานีบริการ PTT Station นั้นได้รับผลกระทบทำให้ขยายสาขาได้ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 110 สาขา เหลือเพียง 95 สาขา


ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ OR ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การขยายสาขาทั้งสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และคาเฟ่ อเมซอนในปีนี้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จากเดิมตั้งเป้าขยาย PTT Station เพิ่ม 52 สาขา ลดลงเหลือ 45 สาขา และร้านคาเฟ่ อเมซอนจากเดิมขยายเพิ่ม 56 สาขา ลดลงเหลือ 51 สาขา

ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 OR มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งใน และต่างประเทศรวม 2,367 สาขา และร้านคาเฟ่ อเมซอน รวม 3,729 สาขา

ทั้งนี้ OR ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564-68) อยู่ที่ 7.46 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในปีนี้ 2.23 หมื่นล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะใช้เงินลงทุนได้ตามแผนหรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) ไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ มีทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งดิจิทัล ซึ่งจะทยอยเห็นการลงทุนในอนาคตเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา OR มีการต่อสัญญาหลักความร่วมมือกับ CPALL ในการดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในประเทศไทยออกไปอีก 10 ปี อีกทั้งยังมีความคืบหน้าในการเปิดจุดรับส่งพัสดุ (drop off point) ของ Flash Express จำนวน 10 จุดที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน และนำร่องจำหน่ายเมนู Grab & Go จาก “โอ้กะจู๋” ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station วิภาวดี (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)


นางสาวจิราพรกล่าวต่อไปว่า OR ยังมีแผนการลงทุนธุรกิจค้าปลีกออกนอกสถานีบริการน้ำมัน โดยจะนำพื้นที่สถานีบริการน้ำมันที่มีขนาดเล็กในตัวเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ทำสถานีบริการน้ำมันมาพัฒนาคล้ายคอมมูนิตีมอลล์เพื่อให้บริการธุรกิจ Non-Oil 3-4 แบรนด์ เน้นร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งอาจมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวีสเตชัน) ภายใต้ชื่อ โออาร์ สเปซ (OR Space) ซึ่งขณะเดียวกันมีผู้ที่สนใจหลายรายเสนอเข้ามาว่าอยากลงทุนในรูปแบบ OR Space เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มากและจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า คาดว่าจะเปิดนำร่อง 1-2 แห่งในปลายปี 2564 หากได้ผลตอบรับดีบริษัทก็จะมีการขยายเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

การลงทุนดังกล่าวสอดรับนโยบายบริษัทที่เน้นการลงทุนในธุรกิจ Non Oil และต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าธุรกิจน้ำมัน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในปี 2568 สัดส่วน EBITDA ธุรกิจน้ำมัน 52% Non-Oil 35% และต่างประเทศ 12-13%

ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2564 นั้น ช่วงไตรมาส 3 ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายหลังเดือนกันยายน จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหนุนการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดขายใกล้เคียงกับครึ่งแรกปีนี้ ส่วนราคาน้ำมันดิบในปีนี้เฉลี่ย 60 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“ทิศทางการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมีความท้าทายอย่างมากที่ต้องฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น บริษัทจะเน้นการเพิ่มช่องทางออนไลน์ไปยังออฟไลน์ (O2O) มากขึ้น รวมถึงยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฟ้นหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน ตอบโจทย์คนเดินทางในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตที่ครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน สร้างชุมชนที่น่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน”

ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,810 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากทั้งรายได้ขายและ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ขายและบริการสำหรับครึ่งปีแรก 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยหลักมาจากกล่มธุรกิจน้ำมันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ทำให้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายรวมลดลงเล็กน้อยเพียง 5% โดยหลักมาจากตลาดพาณิชย์ส่วนใหญ่ในน้ำมันอากาศยานที่ปริมาณขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-Oil รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามการขยายสาขาของร้านคาเฟ่ อเมซอนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับ EBITDA ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จำนวน 11,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,126 ล้านบาท หรือราว 76% ยังคงความแข็งแกร่ง ทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมัน และ Non-Oil ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจน้ำมันและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของ Non-Oil เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐใช้มาตรการผ่อนคลายมากกว่าเมื่อเทียบกับรอบแรกในปี 2563 ที่มีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทย ตรงข้ามกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ ที่รุนแรงมากกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลกดดันต่อกลุ่มธุรกิจต่างประเทศที่ผลการดำเนินงานลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น