xs
xsm
sm
md
lg

โควิดพ่นพิษ! “สนพ.” ประเมินการใช้พลังงานขั้นต้นปี 64 โตแค่ 0.1% โดยน้ำมันดิ่งสุด 5.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนพ.ประเมินการใช้พลังงานขั้นต้นของไทยปี 2564 ทั้งปีโตแค่ 0.1% จากปีก่อนเหตุผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีเพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะโต โดยการใช้พลังงานอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้นยกเว้นน้ำมันลดลง 5.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เปิดเผยว่า สนพ.ได้คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 โดยอิงสมมติฐานตัวเลขเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7-1.2% คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 62-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ในระดับ 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากภาคส่งออกเป็นสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมันที่ปรับตัวลดลง

“เราได้ประเมินผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ไว้ด้วยแล้ว แต่ก็ยังต้องติดตามผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ สศช.ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกหรือไม่เพราะจะสะท้อนมายังการใช้พลังงาน” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าคาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การใช้น้ำมันคาดว่าลดลง 5.5% อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564 การใช้ LPG ในภาคครัวเรือนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง 24% ก๊าซธรรมชาติคาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.5% และการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ 0.4%

สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงานช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีมาตรการต่างๆ เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการใช้น้ำมันในสาขาขนส่ง โดย 6 เดือนแรกปีนี้การใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 3.9% โดยการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลง 53% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 19.6% จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า


การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 8.7% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวและฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 2563 โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้เพิ่มขึ้น 21.2% และภาคครัวเรือนมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ภาคขนส่งมีการใช้ลดลง 12% การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.9% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 7.2% และ 6.0% ตามลำดับ ตามการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 18.9% ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี 2564 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 MW เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.8% 


กำลังโหลดความคิดเห็น