ปตท.โชว์กำไรไตรมาส 2/64 แตะ 24,578.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นโตขึ้นและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่ม ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้กำไรสุทธิ 57,166.27 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไร 10,498.93 ล้านบาท
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 24,578.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,053.29 ล้านบาท เนื่องจาก ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA เพิ่มขึ้น 58,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% มาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมากตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
รวมถึงธุรกิจการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้มีกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ทรงตัวที่ 1.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการกลั่นรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GRM) ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 1.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 2/2563 เป็นกำไร 4.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 2/2564
ส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการโอมาน แปลง 61 จากการเข้าซื้อธุรกิจตามกล่าวข้างต้น และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยหลักจากราคาขายเฉลี่ยที่อ้างอิงราคาปิโตรเคมีและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณขายก๊าซฯ และราคาขายลูกค้าอุตสาหกรรมที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ
นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
นายอรรถพลกล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 2564 ปตท.มีกำไรสุทธิ 57,166.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10,498.93 ล้านบาท เป็นผลจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำตามสัดส่วนของ ปตท. โดยหลักจากการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 ประมาณ 7,000 ล้านบาท สุทธิกับการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและประเมินค่าบางส่วนของโครงการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศบราซิลประมาณ 2,900 ล้านบาทของ ปตท.สผ. และการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในการร่วมค้าของ PTTGC ประมาณ 1,500 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 3/2564 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากไตรมาส 2/2564 จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่อาจนําไปสู่การดําเนินมาตรการ Lockdown อีกครั้ง แม้ไม่เข้มงวดเท่าในไตรมาส 2/2563 ท่ามกลางการเร่งฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง แต่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งส่งผลให้ประสิทธิผลของ วัคซีนลดลง การกระจายวัคซีนที่อาจล่าช้าและไม่ทั่วถึง และการถอนมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐเร็วเกินไป
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะหดตัวลงจากไตรมาส 2/2564 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวท่ามกลางการระบาดใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว จนทําให้รัฐบาลจําเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค เช่น การประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ สําหรับภาคการท่องเที่ยว ยังคงถูกกดดันจากจํานวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมีการเปิดพื้นที่นําร่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัสโมเดล” แล้วก็ตาม ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากงบประมาณบางส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทและงบประมาณในส่วนที่เหลือของวงเงินกู้เดิมตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส การฉีดวัคซีนในประเทศที่ล่าช้ากว่าแผน ความไม่แน่นอนของแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และโอกาสผิดชําระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น
ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 99 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการกระจายวัคซีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป สําหรับราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 72.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2564 ที่ระดับ 66.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์น้ำมันโลกที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปทานของกลุ่ม OPEC+ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2564 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0-2.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ในไตรมาส 3/2564 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก