xs
xsm
sm
md
lg

สนค.แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาเพิ่มโอกาสทำตลาดสินค้าแฟชั่นหมุนเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผยแนวโน้ม “แฟชั่นหมุนเวียน” กำลังขยายตัวต่อเนื่อง หลังผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกปรับตัว เพิ่มโอกาสในการทำตลาด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาแนวโน้มตลาดของสินค้าต่างๆ ตามนโยบายที่ได้รับจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นำมาแจ้งทิศทางและช่วยแนะนำให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยได้มีการปรับตัว และเพิ่มโอกาสในการทำตลาด โดยได้ทำการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งพบว่าแนวคิดแฟชั่นหมุนเวียน (Circular Fashion) กำลังเป็นที่นิยมที่นำมาใช้ในการวางแผนและออกแบบการผลิตเพื่อลดการเกิดของเสียและมลพิษ การผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุที่ปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเพิ่มระยะเวลาใช้งานเสื้อผ้า รวมทั้งการนำเสื้อผ้าเก่ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างสูงสุด

ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะการที่ร้านค้าต้องปิดตัวลง ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน และลดการใช้ชีวิตทางสังคม ทำให้ยอดการจำหน่ายเสื้อผ้าลดลง ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคทั่วโลกในปี 2563 ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีรายได้ลดลง และอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 51% จะลดการใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้ารองเท้าลงและมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายมากขึ้น และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้งานได้ยาวนานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้มีผลการสำรวจว่าผู้บริโภคกลุ่ม Millennial (ผู้ที่อายุระหว่าง 24-37 ปี) และ Gen Z (ผู้ที่อายุระหว่าง 13-23 ปี) ใส่ใจเป็นพิเศษต่อสินค้ารักษ์โลก และกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความตระหนักถึงการลดการใช้พลาสติกและคาดหวังให้แบรนด์สินค้าต่างๆ สนับสนุนแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

นายภูสิตกล่าวว่า จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เห็นว่าแฟชั่นหมุนเวียนเป็นแนวคิดที่จะช่วยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบันไปพร้อมๆ กับช่วยลดขยะและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จากในวงการแฟชั่นเริ่มเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจบ้างแล้ว เช่น ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า ธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสอง รวมไปถึงการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยก็ควรที่จะศึกษาและวางแผนการทำตลาดภายใต้แนวคิดนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สนค.เห็นว่าในส่วนของผู้บริโภค หากตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจทำได้โดยเลือกสินค้าที่มีคุณภาพหรือเลือกใช้เสื้อผ้าจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนทิ้งเสื้อผ้า พยายามซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อใช้งานให้นานขึ้น บริจาคเสื้อผ้า และแยกขยะเสื้อผ้า สิ่งทอ เมื่อต้องการทิ้ง เพราะเสื้อผ้าสิ่งทอเหล่านี้สามารถนำไปรีไซเคิลให้กลายเป็นเสื้อผ้าใหม่หรือสินค้าประเภทอื่นได้

ปัจจุบันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อมตามการเติบโตของธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะกระแส Fast Fashion ซึ่งเป็นเทรนด์เสื้อผ้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าออกมาให้ทันความต้องการเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความทันสมัยและซื้อบ่อยขึ้น อาจกลับทำให้สินค้าคุณภาพด้อยลง ใช้งานได้ไม่นาน และใช้ซ้ำได้น้อยครั้ง เสื้อผ้าปริมาณมหาศาลจึงต้องกลายเป็นขยะในที่สุด โดยแต่ละปีจะพบว่ามีเสื้อผ้าและสิ่งทอกว่า 85% ถูกทิ้ง และมีเพียง 15% ที่ได้รับการรีไซเคิลหรือนำไปบริจาค


กำลังโหลดความคิดเห็น