xs
xsm
sm
md
lg

“กนอ.” เผยญี่ปุ่นสนใจหาพาร์ตเนอร์ไทยผลิตชิ้นส่วนฯ ป้อนโรงงานป้องเสี่ยงโควิด-19 หลังทำขนส่งป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.เผยผลหารือเจโทรยืนยันแม้วิกฤตโควิด-19 นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย พร้อมสนใจหาพาร์ตเนอร์ผลิตชิ้นส่วนในนิคมฯ ป้อนโรงงานเพิ่มหลังโควิด-19 กระทบการขนส่งระหว่างประเทศ กนอ.เล็งเป็นตัวกลางช่วยผู้ประกอบการในนิคมฯ และผู้ผลิตได้สร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 
เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมร่วมกับ นายอัทซึชิ ทาเคทาชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) โดยเจโทรได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปีซึ่งล่าสุดผลสำรวจครึ่งปีแรกของปี 2564 มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ระบุว่ายังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 60% และจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นอาจลดนำเข้าเพื่อลดความเสี่ยงการขนส่งและสนใจที่จะใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมากขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิตในนิคมฯ ที่มีความหลากหลาย และหากชัดเจน กนอ.จะประสานเพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน

“นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย แต่ช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบก็ต้องยอมรับว่าการขนส่งสินค้าจากซัปพลายเออร์ของเขาทำได้ยาก ดังนั้นเขาก็มองว่าถ้าได้พันธมิตรชาวไทยที่ผลิตพวกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนโดยเฉพาะในนิคมฯ ก็จะลดปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศได้มาก เพราะในนิคมฯ ก็มีผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่างกัน เราก็พร้อมให้ความสนับสนุนเต็มที่ อาจจะเป็นในรูปแบบการเจรจาระหว่างผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในแต่ละธุรกิจให้ได้มาหารือกัน ซึ่งถ้ามีโอกาสตรงนั้น กนอ.พร้อมช่วยเป็นผู้ประสาน เพื่อให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในนิคมฯ เพิ่มขึ้น” นายวีริศกล่าว

นอกจากนี้เจโทรยังได้เผยอีกว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจในนโยบายเศรษฐกิจ
BCG (Bio-Circular-Green) โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งระบุว่ายังสนใจสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยเฉพาะในประเด็นพลังงานสีเขียว เช่น ไฟฟ้าหรือไอน้ำจากพลังงานทดแทน ประเด็นผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน เช่น ชิ้นส่วนประหยัดพลังงานในรถยนต์ เซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง เซลล์เชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งการบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วย

สำหรับภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16% อเมริกา 6.79% สิงคโปร์ 6.78% และไต้หวัน 4.11% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 10.91% รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 9.97% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.3% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.65% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 6.6% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น