ทาทาสตีลฯ มั่นใจปีนี้มียอดขายเหล็กเกินกว่า 1.3 ล้านตัน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดไซต์การก่อสร้างทำยอดขายไตรมาส 2 สะดุดบ้างก็ตาม แต่หากรัฐควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ หนุนความต้องการใช้เหล็กพุ่งขึ้น
นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจปริมาณการขายผลิตภัณฑ์เหล็กในงวดปีการเงิน 2565 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) มากกว่า 1.3 ล้านตัน สูงกว่าช่วงปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน แม้ว่าไตรมาส 2 นี้ (ก.ค.-ก.ย. 64) ปริมาณการขายเหล็กจะปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาครัฐในการปิดไซต์งานการก่อสร้างและแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่ 28 มิ.ย.-27 ก.ค. 2564 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งการก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วนถึง 50%
แต่ทั้งปีคาดว่ายอดขายเหล็กจะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในจีนทำให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากจีนมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง รวมทั้งค่าระวางเรือขนส่งที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเหล็กในประเทศแทน และรัฐบาลไทยก็ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายคาดว่าการก่อสร้างจะกลับมาได้เร็ว ทำให้ต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายราจีฟกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะส่งออกเหล็กราว 10-15% จากไตรมาสที่ 1 ปีการเงิน 2565 (เม.ย.-มิ.ย. 64) ส่งออกเหล็กไปอินเดียและแคนาดาราว 2.8 หมื่นตัน จากปริมาณการขายรวม 3.46 แสนตันในไตรมาส 1 และคาดว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีบริษัทจะมีปริมาณการส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างอุตฯ เหล็กในจีนทำให้เหล็กลวดจากจีนส่งออกลดลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทย ดังนั้น บริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าใหม่ที่เป็นเหล็กลวดเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยเน้นเหล็กลวดคุณภาพสูง เช่น เหล็กลวดคาร์บอนกลาง และเหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมทั้งสินค้าพร้อมใช้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าปลายทาง อาทิ เหล็กสำหรับรากฐาน รวมทั้งใช้ช่องทางดิจิทัลในการซื้อขายเหล็กผ่านทางออนไลน์และแพลตฟอร์ม
“ผลประกอบการไตรมาส 2 นี้ (ก.ค.-ก.ย. 64) แม้ว่าปริมาณการขายเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาไม่ได้ แต่ทั้งปีมั่นใจว่าปริมาณการขายมากกว่า 1.3 ล้านตัน โดยบริษัทมีมุมบวกในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยเพราะตลาดยังดีอยู่มาก และรัฐเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หากรัฐสามารถควบคุมได้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟื้นกลับคืนแน่นอน”