“กกพ.” เตรียมสรุปแนวทางยื่นรัฐพิจารณาหลังถูกประสานให้ประเมินเพื่อลดค่าไฟให้แก่ประชาชนเพื่อลดผลกระทบนโยบายล็อกดาวน์รอบใหม่ในการรับมือการแพร่ระบาดโควิดระลอก 4 และอาจรวมถึงการเว้นค่ามินิมัมชาร์จสำหรับกิจการรายใหญ่ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐที่จะสนับสนุนว่าจะลดทั้งประเทศหรือเฉพาะพื้นที่สีแดง โดยหากต่อมาตรการเดิมลด 2 เดือนต้องใช้งบกว่า 8,000 ล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ประสานขอความคิดเห็นเรื่องเยียวยาภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายล็อกดาวน์ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) เกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ กกพ.กำลังศึกษาแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอ 2-3 แนวทาง โดยยอมรับว่าหากรัฐบาลจะใช้มาตรการเดิมที่เยียวยาประชาชนด้วยการลดค่าไฟรอบที่ 3 ล่าสุดที่ลดสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 64 ) รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการราว 8,777 ล้านบาท โดย กกพ.จะเร่งสรุปเสนอรัฐโดยเร็ว
“เราได้รับการประสานให้ประเมินแนวทางการลดค่าไฟฟ้ามา ทั้งการลดทั้งประเทศ และการลดเฉพาะพื้นที่สีแดง ซึ่งเราก็จะทำทางเลือกไว้ให้พิจารณา 2-3 แนวทาง แต่เราไม่ได้สรุปว่าจะลดหรือไม่ลดนะ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐว่าจะมีงบประมาณในการดำเนินงานเท่าไหร่และจะใช้แนวทางแบบเดิมหรือไม่ เพราะ กกพ.เองยืนยันแล้วว่าเราไม่มีเงินเหลือจากการบริหารจัดการ ต้องใช้เงินจากงบประมาณภาครัฐมาสนับสนุนเท่านั้น” นายคมกฤชกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 รัฐบาลใช้มาตรการลดค่าไฟฟ้ารายเดือนตามนโยบาย WFH ไปแล้ว 3 รอบ โดยรอบที่ 1 ปี 63 ใช้เงิน 11, 663 ล้านบาท รอบที่ 2 ต้นปี 64 ใช้เงิน 8,200 ล้านบาท และรอบที่ 3 สิ้นสุด มิ.ย. ใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า 8,770 ล้านบาท โดยมาตรการล่าสุดลดค่าไฟในบิลค่าไฟ พ.ค.-มิ.ย. 64 ให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ได้แก่ กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ เช่น
ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50 เป็นต้น
“หากเป็นไปตามมาตรการนี้เหมือนเดิมก็จะใช้เงินราว 8,770 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องอยู่กับรัฐเป็นสำคัญ และในส่วนของการเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ช่วยผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ก็น่าจะต้องล้อไปด้วยกัน แต่ทั้งหมดอยู่ที่นโยบายรัฐเป็นหลัก” นายคมกฤชกล่าว