xs
xsm
sm
md
lg

7 เดือนกลุ่ม ปตท.กระหน่ำลงทุน 3.4 แสนล้าน M&A ธุรกิจไฟฟ้า-ปิโตรเคมีใน ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประกาศการร่วมทุนและซื้อกิจการของกลุ่มบริษัท ปตท.มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเดือนที่มีดีลการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำในต่างประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมาก แม้ว่าการเจรจาทำได้ยาก การเดินทางทำได้ลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม แต่ก็เดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนสอดรับวิสัยทัศน์ของแต่ละบริษัท และบริษัทแม่ บมจ.ปตท. ในการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

โดยมีบริษัทแม่พร้อมสนับสนุนด้านการเงินอย่างเต็มที่ ทาง ปตท.อัดฉีดให้เงินกู้ให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เพื่อใช้ในการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) รวมแล้วเฉียด 1 แสนล้านบาท โดยช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 กลุ่ม ปตท.ได้ประกาศการลงทุนทั้งการร่วมทุนและเข้าซื้อกิจการ (M&A) การตั้งบริษัทร่วมทุนและตั้งบริษัทย่อยทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นเงินลงทุนราว 3.4 แสนล้านบาท ลำพังแค่การลงทุนของ PTTGC เพียงบริษัทเดียวก็สูงถึง 1.6 แสนล้านบาท


GPSC คว้า 2 ดีลซื้อพลังงานหมุนเวียนใน ตปท.

วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า ด้วยนโยบาย ปตท.ที่กำหนดให้กลุ่ม ปตท.มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 8,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. ทำให้ GPSC แสวงหาการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้ศึกษาโอกาสในประเทศอินเดียและไต้หวันมาระยะหนึ่งแล้ว

จนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทโกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุน CI-II และ CI-III โดย GRSC จะเข้าถือหุ้น 25% ในบริษัท CI Changfang จำกัด และบริษัท CI Xidao จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งรวม 595 เมกะวัตต์ในไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.63 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการโอนหุ้นได้ในไตรมาส 2/2565

นอกจากนี้ ยังได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนใน Avaada ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวม 3,744 เมกะวัตต์ในประเทศอินเดีย มูลค่าการลงทุนราว 14,825 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณ 41.6% ของทุนทั้งหมด โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่อินเดียและโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งที่ไต้หวันนั้นมาจากกระแสเงินสด และการกู้ยืม ปตท.ที่ได้อนุมัติวงเงินกู้ยืมระยะยาวไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ต้นปีนี้ GPSC ใส่เงินราว 500 ล้านบาทเพื่อลงทุนในการเพิ่มทุนบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co.,Ltd. (AXXIVA) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีด้วย โดยใช้เทคโนโลยีจาก 24M Technologies Inc. คิดเป็นการลงทุนในสัดส่วนประมาณ 11.1% ของทุนทั้งหมดของ AXXIVA


PTTGC สยายปีกฮุบ Allnex

สำหรับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ได้ประกาศการลงทุนในต่างประเทศด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.48 แสนล้านบาท ในการเข้าซื้อหุ้น 100% ใน Allnex Holding GmbH และซื้อหุ้นบุริมสิทธิใน Allnex Holding Germany II GmbH (Holding II) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Allnex Holding จำนวน 6% คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,002.2 ล้านยูโร หรือเทียบเท่า 148,417 ล้านบาท คาดว่าปิดดีลภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า Allnex Holding GmbH ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins หรือผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท โดยมีโรงงานในเครือ 33 แห่งจาก 18 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย สอดรับกลยุทธ์บริษัทในการดำเนินสู่ธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HVB) ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ Megatrends


นอกจากนี้ PTTGC ได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) หรือ VNT จำนวน 889,154,755 หุ้น หรือคิดเป็น 75.02% แต่เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ AGC Inc. ยืนยันไม่มีแผนขายหุ้น VNT ที่ถืออยู่ 58.78% ทำให้ PTTGC เสนอซื้อหุ้น VNT ทั้งหมดจากรายย่อยทั้งหมดคิดเป็น 16.24% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 39 บาท คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 7,500 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเพิกถอนหุ้น VNT ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการใช้เงินสูงมากในปีนี้ แต่ PTTGC ไม่มีนโยบายเพิ่มทุนจดทะเบียนแต่อย่างใด เพราะบริษัทมีเงินจากการดำเนินงานและการขายหุ้น GPSC ให้กับ ปตท.บางส่วน รวมทั้งปตท.สนับสนุนเงินกู้ให้ PTTGC ถึง 7.39 หมื่นล้านบาท และมีสถาบันการเงินพร้อมปล่อยกู้อีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ


PTTEP ถือหุ้น 20% Block 61 ในโอมาน

ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้ปิดดีลซื้อหุ้น 20% ใน โครงการ Block 61 รัฐสุลต่านโอมาน จากบริษัท BP Exploration (Epsilon) Limited มูลค่า 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7.35 หมื่นล้านบาท โดยแหล่ง Block 61 เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ประมาณร้อยละ 35 ของประเทศ

ด้านบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้ซื้อหุ้นในบริษัท Jskem Private Limited (JSKEM) ในสัดส่วนไม่เกิน 80% และซื้อหุ้นสำมัญ บริษัท TOP Solvent India Chemtrade (TSI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย JSKEM จำนวน 1 หุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 45.36 ล้านบาท เพื่อขยายฐานธุรกิจการจัดจำหน่ายสารทำละลายไปยังต่างประเทศของกลุ่มไทยออยล์ เนื่องจาก JSKEM ก็ดำเนินกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์และสารทำละลายในประเทศสิงคโปร์

ส่วนบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ในปีนี้แม้ว่าจะไม่มีดีลซื้อกิจการเหมือนบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท. แต่ก็มีการลงทุนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF) มูลค่าการลงทุน 1.33 หมื่นล้านบาท ที่ต้องเร่งทำตามกำหนดการบังคับใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อลดปัญหามลภาวะและฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งยังได้ร่วมทุนกับบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) บริษัทย่อยของ ปตท. ตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Medical Consumables) โดยคาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 4 ปี 2564

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า บริษัทถือหุ้น 45% ในบริษัทโกลเบิล แอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง OR กับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เพื่อให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีมูลค่าการลงทุนเริ่มต้น 2,337 ล้านบาท โดย OR จะลงทุนไม่เกิน 545.40 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังอนุมัติให้บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทลูก OR ดำเนินตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการยานยนต์ออนไลน์ ด้วยเงินทุนเริ่มแรกไม่เกิน 106 ล้านบาท และเมื่อต้นปี 2564 ได้ลงทุนซื้อหุ้น 20% ในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ใช้เงินราว 500 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋เพิ่มเติมใน PTT Station


ปตท.ทุ่ม 1-2 พันล้านดอลล์รุกธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ด้าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ก็ไม่น้อยหน้าบริษัทในเครือฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักต่างๆ แบบ end-to-end ด้วยเงินร่วมลงทุนขั้นต้นที่ 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.2-6.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นอกจาก ปตท.ได้ตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) จากเดิมชื่อบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ได้ตั้งบริษัทลูกบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EV ME PLUS) โดย ARUN PLUS ถือหุ้นทั้งหมดด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และมีทุนชำระเริ่มแรก 340 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท. ผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย

บริษัทย่อย ปตท. คือบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ร่วมทุนบริษัทโนฟ ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช กำลังผลิต 3 พันตัน/ปี คาดผลิตเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4 ปีนี้ และทางอินโนบิก (เอเซีย) ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 6.66% ของบริษัท Lotus Pharmaceutical จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจทั้งวิจัยพัฒนา (R&D) ผลิตและจำหน่ายยาในไต้หวัน วงเงินลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.5-1.6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ปตท.ทุ่มเงิน 25,126 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น GPSC จาก PTTGC จำนวน 12.73% ทำให้ปตท.ถือหุ้นใน GPSC เพิ่มขึ้นเป็น 44.45% และยังประมูลซื้อศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ หรือศูนย์ลูกเรือ หลักสี่ ของ บมจ.การบินไทย ด้วยราคา 1,810 ล้านบาท

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ปรับเพิ่มงบการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ในปี 2564 จาก 52,931 ล้านบาทเป็น 67,504 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเพิ่มงบลงทุนของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าและปรับแผนลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ส่วนการลงทุนโครงการอื่นๆ ยังคงดำเนินการตามแผนการลงทุนเดิม รวมทั้งการลงทุนผ่านบริษัทที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 เช่น การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร การลงทุนธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science : ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์การแพทย์)

ล่าสุดกลุ่ม ปตท.จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพันธมิตรทางการแพทย์ในการเพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ การดูแลผู้ติดเชื้อที่ดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้าน หรือในชุมชน (Home or Community Isolation) พร้อมร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับสีเขียวประมาณ 1,000 เตียง ระดับสีเหลือง 350 เตียง รวมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไอซียู รองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต ระดับสีแดง จำนวน 120 เตียง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ นับเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิดครบวงจร (End-to-End) และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ภายใต้ ‘โครงการลมหายใจเดียวกัน’


กำลังโหลดความคิดเห็น