สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องขอเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ SME ในภาคค้าปลีกและบริการอย่างเร่งด่วน
ขณะนี้มี SME ในระบบกว่า 200,000 รายที่กำลังจะต้องปิดตัวลง และมีลูกจ้าง 1,000,000-1,500,000 รายที่จะต้องขาดรายได้และไม่มีงานทำ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างหนัก เพราะจะก่อให้เกิดหนี้เสียหลายแสนล้านบาท
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ในขณะที่การฉีดและกระจายวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรเร่งเยียวยากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยสมาคมฯ ขอนำเสนอ 4 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการสาธารณสุข
1.1 เร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั้งหมด 93 จุด แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 25 จุด และในต่างจังหวัดอีก 68 จุดทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเพิ่มบริการตรวจ Rapid Antigen Test ให้แก่ประชาชน
1.2 จัดสรรวัคซีนให้แก่บุคลากรในภาคค้าปลีกและบริการ โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า
2. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME และประชาชน
2.1 เร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ SME เร็วขึ้น เพราะในช่วง 30 วันที่ผ่านมามี SME ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย
2.2 สำหรับ SME ที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินในปัจจุบัน ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.3 ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
2.4 ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการจ้างงานเพิ่ม ขอผ่อนผันให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และลดอัตราการว่างงาน
2.5 เพื่อเป็นการเพิ่มให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ขอให้ปรับเพิ่มรายได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาขั้นต่ำที่จะเสียภาษีจาก 150,001 บาท เป็น 250,001 บาท ในปี 2564-2565
2.6 ผ่อนผันให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถให้บริการจัดส่งหรือดีลิเวอรี (Delivery) ได้ เพื่อช่วยเหลือ SME ให้สามารถพยุงธุรกิจได้ และลูกจ้างยังมีงานทำต่อไป
3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3.1 นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาทเพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง
3.2 ขอให้ภาคเอกชนไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลและ BOI เช่นเดียวกับการที่นักลงทุนต่างชาติได้รับ เนื่องจากภาคเอกชนที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความแข็งแรง สามารถลงทุนเพิ่ม แต่อาจขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้น พร้อมยังช่วยทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง
4. มาตรการรองรับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)
4.1 กำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมบางธุรกิจ ห้ามนักลงทุนต่างชาติทำโดยเด็ดขาด และบางธุรกิจสามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขเพื่อปกป้องอาชีพและธุรกิจของคนไทย โดยไม่ทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยในที่สุด
4.2 ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายต่ำกว่าราคาต้นทุน
4.3 เร่งผลักดันการทำ Digitalization ของหน่วยงานภาครัฐสำหรับใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นแบบ E-Form, E-License, E-TAX และ E-Invoice และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License) จากเดิมที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือค้าส่งต้องขอใบอนุญาตต่างๆ กว่า 43 ใบ
4.4 ปรับรูปแบบการบริการของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชนเป็นแบบ Cashless Payment (การทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อช่วยลดกระดาษ ลดเอกสาร ลดขั้นตอน ลดเวลา และสามารถตรวจสอบเอกสารย้อนหลังได้จากระบบ
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสงครามเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปให้ได้ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง” นายญนน์กล่าว