“ศักดิ์สยาม” กำชับหน่วยงานคมนาคมช่วยดูแลการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา 6 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างรักษาตัว เผยล่าสุดยังมีเตียงเหลือ 1,412 เตียง ช่วยสนับสนุน สปสช.แก้ปัญหา กทม.เตียงเต็ม
วันนี้ (21 ก.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) ด้วย Application “Zoom” โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการมอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านรับผิดชอบการจัดการนำผู้ป่วย Covid-19 ที่มี ความประสงค์จะกลับไปพักรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนกลางหลักในการประสานกับผู้ป่วย และรัฐมนตรีแต่ละท่านช่วยในการประสานใช้ทรัพยากร ในการลำเลียง จัดส่ง และประสานจังหวัดภูมิลำเนาปลายทาง สำหรับ รมว.คมนาคมได้รับผิดชอบจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 6 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน โดยเป็นลักษณะของการช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นแกนหลักประสานระหว่างผู้ป่วยกับหน่วยงานของรัฐในการจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1330 รวมทั้งมาตรการในการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาของกระทรวงสาธารณสุข ความพร้อมของ 6 จังหวัดในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา เช่น การจัดตั้ง Community Isolation (CI) โครงการที่จังหวัดดำเนินการ เช่น โครงการอุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้าน ของ จ.บุรีรัมย์ โครงการคนอุบลไม่ทิ้งกันของ จ.อุบลราชธานี
โดยมีปริมาณจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยของทั้ง 6 จังหวัด รวมจำนวน 5,876 เตียง ณ วันที่ 21 ก.ค. 2564 ใช้แล้ว 4,464 เตียง คงเหลือ 1,412 เตียง แบ่งเป็น
จ. บุรีรัมย์ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,084 เตียง ใช้แล้ว 1,007 เตียง คงเหลือ 77 เตียง
จ. ยโสธร มีจำนวนเตียงทั้งหมด 989 เตียง ใช้แล้ว 750 เตียง คงเหลือ 239 เตียง
จ.สุรินทร์ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 324 เตียง ใช้แล้ว 191 เตียง คงเหลือ 133 เตียง
จ.อำนาจเจริญ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 229 เตียง ใช้แล้ว 204 เตียง คงเหลือ 25 เตียง
จ.อุบลราชธานี มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,297 เตียง ใช้แล้ว 1,164 เตียง คงเหลือ 133 เตียง
จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,953 เตียง ใช้แล้ว 1,148 เตียง คงเหลือ 805. เตียง
นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารจัดการเพื่อนำผู้ป่วย COVID-19 ส่งรักษาอาการในจังหวัดภูมิลำเนา 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กระทรวงคมนาคม สาธารณสุข และมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ ประสานสั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้าย การเดินทางของผู้ป่วยกลับมารักษาอาการในจังหวัดภูมิลำเนา รวมทั้งประสานจังหวัดในพื้นที่ภูมิลำเนา 6 จังหวัด เพื่อส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โรงพยาบาล หน่วยบริการรักษาอาการ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานด้านคมนาคมที่ดูแลด้านการขนส่งคนดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเว้นระยะห่างภายในรถ การทำความสะอาด รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้ป่วยระหว่างเดินทาง และขอให้จังหวัดดำเนินการวางแผนการรองรับผู้ป่วยกลับบ้าน โดยให้มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตเพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าด้วย
ส่วนกรณีที่จังหวัด หรือหน่วยงานใดฯ ต้องการการสนับสนุนหรือขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงคมนาคม สามารถติดต่อสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์
ทั้งนี้ หากมีผู้ประสงค์จะขอรับบริการ “จัดส่งผู้ป่วย Covid-19 กลับไปรักษาที่บ้านเกิด” สามารถโทร.ประสานงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมร่วมในการดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยด้วยทรัพยากรของกระทรวงคมนาคมทุกด้าน พร้อมดูแลตั้งแต่การเดินทาง อาหาร และประสานดำเนินงานเพื่อให้ผู้ป่วยถึงยังสถานพยาบาลในจังหวัดภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย และถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุดตามมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขต่อไป
สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ในการประสานส่งผู้ป่วยโควิด 19กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนามีดังนี้ฮอตไลน์สปสช.โทร 1330 กด 15
จังหวัดศรีสะเกษเบอร์สายด่วน 1422และสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษเบอร์ 065-240-0680และ 065 -240-0691
จังหวัดอำนาจเจริญเบอร์ 090-241-0098 093-323 -4686 086-651-5424 095-192-4903
จังหวัดสุรินทร์เบอร์ 044-513-999(เฉพาะเวลาราชการ)และ092-599-5108 (ตลอด 24ชั่วโมง)
จังหวัดยโสธรเบอร์ 090-240-9930
จังหวัดอุบลราชธานีเบอร์ 082-648-9270 096-693-2139 096-937-1783
จังหวัดบุรีรัมย์เบอร์ 025-765-5555