กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเจรจา FTA ไทย-ปากีสถานจบแล้ว 12 เรื่อง เหลือแค่ 1 เรื่องที่ต้องหารือต่อ ตั้งเป้าสรุปภายในปีนี้ ย้ำการทำ FTA ดันเศรษฐกิจไทยเพิ่ม 0.18-0.32% มีสินค้าได้ประโยชน์ส่งออกเพียบ ทั้งยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ผักและผลไม้ พลาสติก และยางพารา แถมใช้ปากีสถานเป็นฐานผลิตเจาะเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และจีนได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ปากีสถาน ว่า ขณะนี้การเจรจามีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยสามารถเจรจาในส่วนของการค้าสินค้าไปแล้ว 9 รอบ สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว 12 เรื่อง จากทั้งหมด 13 เรื่อง เหลือเพียงเรื่องพิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและประเด็นการเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ที่จะต้องเจรจากันต่อเพื่อเร่งหาข้อสรุปต่อไป โดยตั้งเป้าที่จะเจรจากันให้จบภายในปีนี้เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
สำหรับการทำ FTA ไทย-ปากีสถานจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ไทย โดยในด้านเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.18-0.32% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200-800 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 5 ของตลาดปากีสถาน ปัจจุบันถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 30-100% เคมีภัณฑ์ 0-20% เหล็ก 3-30% ผักและผลไม้ 16-20% พลาสติก 0-20% และยางพารา 0-30% เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำ FTA ยังจะช่วยให้ไทยสามารถใช้ปากีสถานเป็นฐานการผลิตเพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และจีน จากการที่ปากีสถานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมากกว่า 22 แห่ง กระจายอยู่ทั้งในกรุงอิสลามมาบัด และ 4 แคว้นของปากีสถาน ได้แก่ ปัญจาบ สินธ์ บาลูจิสถาน และไคเบอร์ปัคตูนควา โดยนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี ได้รับการยกเว้นภาษีสินค้าทุน และได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ทางยกระดับ ท่าเรือน้ำลึก ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor SEZ : CPEC) มูลค่ากว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ซึ่งเน้นการเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานกับภาคตะวันตกของจีน
ขณะเดียวกัน ปากีสถานยังได้เปิดเสรีการลงทุนในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น แปรรูปอาหาร โลจิสติกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ ไอที การก่อสร้าง การท่องเที่ยวและการโรงแรม ยกเว้นสาขาด้านความมั่นคง อีกทั้งปากีสถานยังมีสินค้าที่น่าสนใจ และสามารถเป็นวัตถุดิบสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น สิ่งทอ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์กีฬา ผลไม้ (ส้มแมนดาริน ฝรั่ง อินทผลัม) ซีเมนต์ หินอ่อน หินแกรนิต เกลือหิมาลัย เคมีภัณฑ์ พรมเปอร์เซีย ข้าวบาสมาติ เป็นต้น โดยสินค้าที่ผลิตในปากีสถานได้รับการยอมรับมาตรฐานสินค้าฮาลาลจากประเทศที่บริโภคสินค้าฮาลาลเป็นหลัก ทำให้สะดวกและช่วยเพิ่มแต้มต่อในการส่งออกไปกลุ่มประเทศเป้าหมายนี้ด้วย
ปัจจุบันปากีสถานเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 220 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากถึง 30 ล้านคน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ทองแดง ถ่านหิน ทองคำ และทรัพยากรประมง เช่น กุ้ง ปู ปลา และหอย ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของไทยได้ รวมทั้งที่ตั้งของประเทศที่เชื่อมโยงกับเอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และจีน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยสามารถปักหมุดสานสัมพันธ์ในด้านการค้าและการลงทุน
ในด้านการค้า ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยการค้ารวมระหว่างไทย-ปากีสถานในปี 2563 อยู่ที่ 1,108 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปปากีสถาน 980 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น และนำเข้าจากปากีสถาน 128 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่น้ำอัดลม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น