xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” แย้มปีนี้ยอดขอรับส่งเสริมลงทุนมีลุ้นพลิกสูงกว่าปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” แย้มยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนฯ ของบีโอไอครึ่งปีแรกปีนี้โตแรงสูงกว่าตลอดทั้งปีของปี 63 แถมมีโอกาสลุ้นปี 2564 พลิกกลับเป็นบวกสูงกว่าปี 2562 ที่ไม่มีโควิด-19 ได้หลังเอกชนมองเห็นศักยภาพและโอกาสหลังสัญญาณวัคซีนเริ่มมามากขึ้น เล็งเปิดรับการลงทุนแบตเตอรี่ อีวี ปีหน้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างการปาฐกถาพิเศษภายในงาน "Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด" จัดโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 64) ใกล้เคียงกับตัวเลขยอดขอรับส่งเสริมฯ ทั้งปี 2563 และมีความเป็นไปได้ที่ในปีนี้ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะสูงกว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มีการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ด้วยซ้ำสะท้อนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย

“ตัวเลขที่ชัดเจนคงต้องรอให้บีโอไอเปิดเผย เขาเองก็รู้ว่ารัฐบาลมีการจัดหาวัคซีนได้เพิ่มขึ้นและฉีดวัคซีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของภาคการลงทุนภาคเอกชนนั้นมีการเติบโตมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่ง เม.ย. ปี 2563 ตอนนั้นภาพวัคซีนเราแทบไม่มีความหวังเลย แต่วันนี้วัคซีนจะทยอยมาทั้งวัคซีนหลักจากรัฐและวัคซีนทางเลือกจากเอกชน วันนี้เวลาอยู่ข้างเราแม้จะชะลอไปบ้างเพราะทั่วโลกก็ต้องการ เราต้องรักษาตัวเองด้วย ขอให้เชื่อมั่นเวลาที่สุดเราจะชนะ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารต่อเนื่องมา 6 ปีได้วางแนวทางการลงทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลายด้านเพื่อที่จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ในหลายๆ ด้าน โดยกลยุทธ์หนึ่งที่ได้วางไว้ในการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมรองรับอนาคต คือ 4D ได้แก่ 1. Digitalization 2. Decarbonization 3. Decentralization 4. D-risk โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดโดยการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และแบตเตอรี่ โดยคาดว่าในปี 2565 จะเปิดให้ผู้สนใจลงทุนเข้ามาได้เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ในเดือน พ.ย.นี้ ไทยเองก็จะประกาศจุดยืนการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่เบื้องต้นกำลังพิจารณาว่าจะเป็นระหว่างค.ศ. 2065-2570 ซึ่งจำเป็นต้องรับการสนับสนุนเทคโนโลยีและเงินลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วประกอบด้วย

“เอกชนเขาเห็นอนาคตที่จะมีการพัฒนาวัคซีนมากขึ้น ถึงตอนนั้นจะมีวัคซีนทยอยเข้ามามาก ไทยเองจะต้องทำอย่างไรให้จุดแข็งของไทยในเรื่องการควบคุมโควิด-19 ได้ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี มีอาหารที่ดีราคาไม่แพงเป็นจุดแข็งที่จะดึงดูดการลงทุน รวมไปถึงให้ผู้มีรายได้สูงมาอยู่ในไทยในระยะยาวและมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง โดยตั้งเป้ามีต่างชาติมาอาศัยในไทยเพิ่มอีก 1 ล้านคน ใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 แสนล้านบาท” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น