xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนไทม์ไลน์รถไฟทางคู่ “สายเหนือ-อีสาน” “นายกฯ” ตั้งสอบปมล็อก TOR ฮั้วประมูล ปราบโกงจริง? หรือแค่เบรกกระแสชั่วคราว!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 72,921 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 55,458 ล้านบาท รวมจำนวน 5 สัญญา ได้สร้างความประหลาดใจและเกิดข้อกังขาอย่างมาก เมื่อผลปรากฏว่ามีผู้รับเหมา 5 รายชนะประมูลด้วยวงเงินที่ต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.08% เท่ากันทุกสัญญา และเมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการแล้ววงเงินที่ลดอยู่ในระดับ 60 ล้านบาทเท่านั้นฮ
ทำให้มีหลายภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบพร้อมกับเปิดข้อพิรุธความไม่โปร่งใสในการประมูลต่างๆ นานา ตั้งแต่การกำหนด TOR ที่เอื้อผู้รับเหมา มีการปิดกั้นผู้รับเหมาขนาดกลางทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน และส่อว่าจะมีการฮั้วราคากันทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ จากราคาที่น่าจะลดลงมากกว่านี้

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดปมข้อสงสัยของการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-สายอีสาน โดยได้หยิบยกการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กม. เมื่อปี 2560 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แบ่งเป็น 5 สัญญา มีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 7,204 ล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย เกิดการแข่งขันกัน และพบว่าผลประมูลออกมาต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ย 5.66%

ดังนั้น การแบ่งสัญญาย่อยหลายสัญญาจะทำให้ราคากลางต่ำลง เมื่อราคากลางต่ำลง ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ราคาที่ได้จากการประมูลก็จะต่ำกว่าราคากลางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณลง ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา งานโยธา วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท แบ่ง 14 สัญญา (ไม่รวมงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ) ทำให้รัฐประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 14.65%

แต่...รฟท.ทำตรงกันข้าม

นอกจากนี้ กรณีรวมประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ กับงานโยธามีข้อเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเลือกออกหนังสือรับรองให้ผู้รับเหมารายใดก็ได้ เช่น อาจจะออกหนังสือรับรองให้เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ถือเป็นการล็อกสเปกอย่างแยบยล

สรุปว่า หาก รฟท.ใช้ TOR มาตรฐานเหมือนสายใต้ ผลราคาอาจจะต่ำกว่านี้ ประหยัดเงินได้อย่างน้อย 5.7% เทียบจากวงเงิน 2 โครงการที่ 128,374 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ถึง 7,216 ล้านบาท

@“หมอวรงค์” ซัดเขียน TOR ล็อกให้รับเหมา 5 รายใหญ่

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า ลดราคาเพียง 0.08% เท่ากันทุกสัญญา แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ซึ่งสมัย คสช.มีซูเปอร์บอร์ด (คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ) ได้มีมติการแบ่งสัญญาการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ เป็น 7 สัญญา คือ สร้างทางรถไฟ 6 สัญญา งานระบบอาณัติสัญญาณฯ 1 สัญญา เพื่อให้เกิดการแข่งขัน

แต่เมื่อคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดต้องสิ้นสุดลง รฟท.จึงถือโอกาสจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาทบทวนและปรับ 7 สัญญา เหลือ 3 สัญญา และผูกรวมงานระบบอาณัติสัญญาณฯ เข้าไว้ด้วย โดยอ้างว่า ถ้าซอย 7 สัญญางานจะเสร็จช้ากว่า 3 สัญญา ส่วนสายอีสานกำหนด 2 สัญญา ทำให้มูลค่าต่อสัญญาสูงมาก รับเหมารายกลางเข้าไม่ได้ ไม่มีการแข่งขัน มีขบวนการตบตาประชาชนเพื่อนำไปสู่การฮั้วประมูลระดับชาติ

“ดร.สามารถ และ นพ.วรงค์” ได้ร่วมยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ พิจารณาทบทวนการประมูลโครงการนี้และตรวจสอบความไม่ถูกต้องในการประมูล เพื่อประโยชน์ของประเทศ และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อรัฐบาล

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายพลภาขุน เศรษฐบดี แกนนำคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตั้งกรรมการสอบการประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ที่ส่อพิรุธ และขอให้สั่งการไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ รฟท.ระงับการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ รฟท.ประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล และยกเลิกการประกวดราคา

ทำให้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายเหนือ และสายอีสาน ดังกล่าว โดยมีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

@องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเปิดเวทีถก “ฮั้วประมูล”

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ การประมูลรถไฟทางคู่ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ!!! โดยมี ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์รถไฟทางคู่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT ร่วมวงเสวนา

ชี้ว่าเป็นโครงการที่อื้อฉาวที่ รฟท.ถูกตั้งคำถามอย่างมากในรอบ 10 ปี ซึ่งการคอร์รัปชันกับโครงการขนาดใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ ขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ เขียน TOR กำหนดสเปก จนถึงการประมูล และช่วงบริหารสัญญา

โดยตั้งข้อสังเกตเรื่องการแบ่งสัญญาน้อยทำให้มูลค่าแต่ละสัญญาสูง การเปลี่ยนแปลงกติการวมงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณฯ ที่นำไปสู่การฮั้วประมูลได้

ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ทำ TOR ระบุว่า การเปลี่ยนกติการวมงานโยธากับงานระบบอาณัติสัญญาณฯ ไว้ด้วยกัน ทำให้รับเหมารายกลางและรายเล็กบางรายเข้าไม่ได้ ทำให้งานก่อสร้างจำกัดอยู่ภายใต้ 5 บริษัท และไม่เห็นด้วยกับนโยบาย Thai First เพราะการกีดกันบริษัทต่างชาติ ซึ่งทำให้ขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ระบบรางซึ่งประเทศไทยยังไม่มี

@“ศักดิ์สยาม-รฟท.”แจงยิบ...ซัดกลับทุกปมสงสัย

ด้าน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ รฟท. ได้ยืนยันว่าดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการอย่างเปิดเผยในทุกขั้นตอนและเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ และข้อกฎหมายทุกประการ วิธีประมูล e-bidding เป็นรูปแบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในการประมูลงานภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการสมยอมกันระหว่างผู้รับจ้างในการฮั้วราคา หรือตกลงราคากัน เพราะเป็นการเสนอราคาที่ต่างคนต่างยื่นประมูลโดยไม่ทราบ ณ เวลานั้นว่าจะมีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง และประมูลในราคาเท่าไหร่

ประเด็น...การรวมสัญญางานโยธากับระบบอาณัติสัญญาณฯ มีข้อดีคือ การบริหารโครงการมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย overhead สำนักงาน เครื่องจักร เสร็จเปิดเดินรถได้ตามแผน ส่วนการแยกย่อยสัญญาสายใต้ ทำให้งานมีความล่าช้ากว่า 2 ปี จากการส่งต่อข้อมูล การมอบพื้นที่ระหว่างผู้รับจ้างงานโยธา กับงานอาณัติสัญญาณฯ

อีกทั้งไม่มีการกีดกันผู้รับเหมารายกลางหรือรายเล็กใดๆ เพราะผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณที่มีคุณสมบัติตามที่ รฟท.กำหนดมีจำนวนหลายราย เงื่อนไขประมูลไม่ได้กำหนดให้ผู้ผลิตออกหนังสือรับรองให้ผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว

@งานยาก ผ่านเขตภูเขา เจาะอุโมงค์ ใช้เทคนิคสูง

ประเด็น...TOR กำหนดผลงาน 15% เอื้อบริษัทใหญ่ จากเดิมซูเปอร์บอร์ดแบ่งงานเล็กผลงานแค่ 10% รายกลางแข่งได้

รฟท.ชี้แจงว่า...แนวเส้นทางอยู่ในเขตภูเขา มีการเจาะอุโมงค์ที่คาดว่าจะยาวที่สุดในประเทศ ใช้เทคนิคก่อสร้างสูง แบ่งงานเล็กจะมีปัญหาล่าช้า

ประเด็น...เสนออาณัติสัญญาณฯ 2 ยี่ห้อ เป็นการเผื่อเลือก ไม่เป็นประโยชน์ต่อ รฟท. และเมื่อปี 2550 กรมบัญชีกลางเคยชี้ว่าการเสนอราคาแบบหลายโรงงานเป็นการเผื่อเลือก ทำไม่ได้ ซึ่ง รฟท.เคยต้องยกเลิกประมูลมาแล้ว

ผู้ประมูลได้จะเลือกยี่ห้อราคาถูกให้ รฟท. เช่น เสนอทั้ง Siemens ของเยอรมนี และ LG ของเกาหลี ราคาเกาหลีจะถูกกว่า 20-30% และการที่ รฟท.เกรงว่าเมื่อให้เสนอระบบอาณัติสัญญาณฯ ยี่ห้อเดียวผู้ขายจะข่มผู้รับเหมา เช่น อาจปรับราคา “รฟท.ห่วงผลประโยชน์ผู้รับเหมามากกว่าของ รฟท.”

รฟท.ชี้แจงว่า...ระเบียบของกรมบัญชีกลางไม่ได้กำหนดการให้ยื่นไม่เกิน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นการแข่งขันเปิดกว้าง เป็นธรรม อีกทั้ง รฟท.ยังลดความเสี่ยงเรื่องความล่าช้า เรื่องยี่ห้อไหนไม่เป็นประเด็น เพราะ รฟท.จะพิจารณาคุณสมบัติตามที่กำหนดเป็นหลัก ซึ่งหากให้ยื่นยี่ห้อเดียว ทุกรายมีโอกาสเสนอของเกาหลีเหมือนกันเพราะราคาถูกกว่า เพราะหากใช้ยี่ห้อราคาสูงกว่าคงแข่งขันไม่ได้

@ต้นทุนวัสดุพุ่ง ประมูลราคากลางเดิม 5 สัญญาช่วยประหยัดงบ 7,600 ล้านบาท

ราคากลางที่ประมูลจัดทำตามราคาวัสดุเมื่อ ต.ค. 2563 ขณะที่ เม.ย. 2564 ช่วงประมูลราคาวัสดุ โดยเฉพาะเหล็กปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30% ส่วนราคาน้ำมันดีเซล B7 ปรับจาก 21.59 บาท/ลิตร เป็น 27.79 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 6.2 บาท/ลิตร (+29%)

ซึ่งหากวิเคราะห์ราคากลาง รถไฟสายเหนือและสายอีสานทั้ง 5 สัญญา ณ วันที่ทำราคากลาง กับวันที่ยื่นเสนอราคา พบว่ามีส่วนต่างเพิ่มขึ้นถึง 7,600 ล้านบาท

สายเหนือ มีผลต่างราคากลาง 4,662 ล้านบาท

สัญญา 1 เด่นชัย-งาว ต้องปรับจาก 26,599 ล้านบาทเป็น 28,298 ล้านบาท (เพิ่ม 1,699 ล้านบาท)

สัญญา 2 งาว-เชียงราย ต้องปรับจาก 26,913 ล้านบาท เป็น 28,716 ล้านบาท (เพิ่ม 1,802 ล้านบาท)

สัญญา 3 เชียงราย-เชียงของ ต้องปรับจาก 19,406 ล้านบาท เป็น 20,566 ล้านบาท (เพิ่ม 1,160 ล้านบาท)

สายอีสาน มีผลต่างราคากลาง 2,968 ล้านบาท

สัญญา 1 บ้านไผ่-หนองพอก ต้องปรับจาก 27,123 ล้านบาท เป็น 28,657 ล้านบาท (เพิ่ม 1,533 ล้านบาท)

สัญญา 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ต้องปรับจาก 28,333 ล้านบาท เป็น 29,768 ล้านบาท (เพิ่ม 1,434 ล้านบาท)

@รฟท.เลื่อนไทม์ไลน์ รอผลคณะ กก.ตรวจสอบของ “นายกฯ”

“นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศผลผู้ชนะประมูล เพราะอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาผล และจะต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบก่อนจึงจะประกาศผู้ชนะได้ ซึ่ง บอร์ด รฟท.จะประชุมวันที่ 21 ก.ค.นี้ แต่ยังไม่มีวาระเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบฯ ดังนั้น แม้ รฟท.จะมั่นใจในทุกขั้นตอนที่ดำเนินการ ว่าโปร่งใส ถูกต้องตามระเบียบ แต่ควรรอผลการตรวจสอบก่อน

คำตอบสุดท้าย น่าจะอยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ว่าจะสรุปผลอย่างไร...นายกฯ จะปราบโกงจริง? หรือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นแค่ เกมเบรก... บรรดานักร้องที่ออกมาขย่มประมูลชั่วคราว!!!



นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)




กำลังโหลดความคิดเห็น