กฟผ.คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าปี 2564 เติบโตจากปีก่อน 1.68% เหตุสภาพอากาศที่ร้อนขณะที่คนไทยทำงานที่บ้าน (WFH) มากขึ้น ประกอบกับส่งออกไทยโตต่อเนื่อง แต่การใช้ไฟก็ยังคงไม่อาจกลับไปสู่สภาพเดิมในปี 2562 ที่ยังไม่เกิดโควิด-19 พร้อมเดินหน้ากระตุ้น ศก.ช่วยประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่อง
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-15 มิ.ย.) ลดลงประมาณ 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยคาดการณ์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและรับซื้อในระบบ กฟผ.ตลอดทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 195,159.20 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.68% จากปี 2563 เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะได้รับผลบวกจากภาคการส่งออกของไทยที่มีการคาดการณ์จะเติบโต 8-10% จากปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลมีแผนที่จะเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว
“ปี 2564 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงมากที่สุดในเดือน ม.ค. โดยลดลง 12.35% เมื่อเทียบกับ ม.ค. 63 และในเดือน ก.พ.ก็ยังลดลง 7.8% เพราะในช่วงนี้อากาศค่อนข้างหนาว และพอถึง มี.ค. 64 การใช้เริ่มกลับมาสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้นต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีแรกทำให้ประชาชนมีการใช้เครื่องปรับอากาศที่ต่อเนื่อง ประกอบกับส่วนหนึ่งมีการทำงานอยู่ที่บ้าน (WFH) โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในระบบของ กฟผ.ปีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 2564 เวลา 21.03 น. อยู่ที่ 30,135.30 เมกะวัตต์” นายบุญญนิตย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม 6 เดือนที่เหลือคาดว่าการใช้ไฟฟ้าจะมีอัตราเติบโตและทำให้ภาพรวมทั้งปีแม้จะขยายตัวได้ 1.68% จากปี 2563 แต่ก็ยังคงไม่ได้เติบโตเท่ากับปี 2562 ที่การใช้ไฟปกติไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ปี 2563 อยู่ที่ 28,637 เมกะวัตต์เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ระดับ 30,852 เมกะวัตต์ ปรับตัวลดลง 7.2% ขณะที่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและซื้อสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 191,935 ล้านหน่วย (Gwh) เทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 197,873 ล้านหน่วยลดลง 3% โดยจะพบว่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตปี 2563 ลดลงเพียง 3% ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานอยู่บ้าน (WFH)
“ผลกระทบโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องยังมีผลต่อการใช้ไฟภาพรวมของ กฟผ. คงจะต้องติดตามต่อเนื่องใน 6 เดือนหลัง ซึ่งภาพรวมก็คาดการณ์ว่าจะดีกว่าปี 2563 เพราะภาคการส่งออกที่เป็นตัวแปรสำคัญที่มีการผลิตมากขึ้น ส่วนในแง่ผลกระทบโควิดต่อการดำเนินงาน กฟผ.มีในแง่ของการนำเข้าอุปกรณ์ต่างประเทศที่ดีเลย์ไปบ้างโดยเฉพาะปี 2563 ที่โรงงานมีการหยุดผลิต รวมถึงการนำเข้าที่ปรึกษาด้านเทคนิคจากต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้ถ้ามาต้องกักตัว แต่ปี 2564 มีการปรับตัวหลายๆ อย่างได้มากแล้ว” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ซึ่งได้สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ECO System ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 จำนวน 820 ล้านบาท เช่น จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพื่อมอบแก่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และประชาชน โครงการจ้างงานระยะสั้น 1 ปี ฯลฯ และอนาคต กฟผ.ยังมีแผนช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 400-500 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการชุมชนให้ดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย