บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สร้างความร่วมมือกับเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่ไม่รุกพื้นที่ป่า และปลอดการเผา และยังเดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ช่องทางต่างๆ เช่น Facebook Fanpage, Youtube Chanel และ Line Group หนุนเกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการเพาะปลูก สร้างรายได้เพิ่ม เป็นฐานการผลิตวัตถุดิบหลักของห่วงโซ่ผลิตอาหารที่ยั่งยืนของซีพีเอฟ
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรสำหรับซีพีเอฟ กล่าวว่า ปัจจุบันซีพีเอฟจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% ระบุได้ถึงแหล่งปลูกมีเอกสารสิทธิถูกต้อง ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และปลอดการเผา โดยดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ในโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" อย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 6 เพื่อเป็นคู่คิดเกษตรกรปลูกข้าวโพดมีความรู้ ความเข้าใจ ปลูกข้าวโพดให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ เตรียมดินถูกวิธี ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการปลูกที่ทันสมัย ตลอดจนเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด มีความมั่นใจมีตลาดรับซื้อ สามารถขายได้ในราคาที่ดี ซึ่งเป็นการยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร เป็นการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และแก้ปัญหาเกษตรกรถูกกดราคาขายที่ยั่งยืน
“บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดซื้อวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีการผลิตนี้บริษัทฯ ขอเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดที่รับผิดชอบ ด้วยการลงทะเบียนการเพาะปลูกในระบบตรวจสอบย้อนกลับของบริษัทที่ https://traceability.fit-cpgroup.com/ ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจเรื่องการมีตลาดรับซื้อและราคาขายที่ได้มาตรฐาน” นายวรพจน์กล่าว
นับตั้งแต่บริษัทฯ นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้เพื่อระบุแหล่งปลูกข้าวโพด ตามหลักการ "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ" และโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ และเกษตรกรร่วมมือปรับเปลี่ยนสู่การปลูกแบบปลอดเผา (zero burn) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายชัชวาลย์ มิกขุนทด “ชัช” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก พื้นที่ 300 ไร่ ในพื้นที่ ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนและเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ ต.หินดาด 230 ครัวเรือน ที่เข้าร่วมโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เริ่มปลูกข้าวปลายเดือนมิถุนายน ยืนยันว่าการไถกลบตอซังแทนการเผามีผลดี ช่วยรักษาธาตุอาหารให้กับดิน และนับตั้งแต่ได้มาร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2560 เกษตรกรมีความรู้และเข้าใจเทคนิคการปลูกที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ตั้งแต่การตรวจธาตุอาหารในดิน เตรียมดิน การปลูก การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ช่วยให้อัตราการงอกดีกว่าเดิม ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น สามารถประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยได้มากกว่าเดิม และที่สำคัญ เกษตรกรทุกคนมั่นใจมีตลาดรับซื้อแน่นอน
“ผมและเพื่อนเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการฯ เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น จากผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด เกษตรกรในกลุ่มทุกคนสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ได้โดยตรง ซึ่งมีกระบวนการรับซื้อที่โปร่งใส ได้ราคาตามคุณภาพผลผลิต” นายชัชวาลย์กล่าว
ด้าน นายสุริยันต์ ทองนาค "ตี๋" เกษตรกรปลูกข้าวโพดใน ต.พังเทียม อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา เล่าว่า มาเข้าร่วมโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เมื่อปี 2560 รู้จักโครงการจากเกษตรกรใน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย ซึ่งทำให้มีความรู้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และทำให้ผลผลิตมีความชื้นตามที่โรงงานอาหารสัตว์ต้องการ ซึ่งช่วยให้สามารถขายผลผลิตได้ราคาที่ดีขึ้น สำหรับผลผลิตของปีที่ผ่านมาเก็บเกี่ยวได้เป็นที่น่าพอใจ และได้ราคาขายที่ดี ในปีนี้ตนและเกษตรกรในพื้นที่ได้นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนมาช่วยกำหนดเวลาการปลูกเพื่อลดการความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงยาว และจะเน้นเรื่องยุติการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูธาตุอาหารในดินและอากาศในชุมชนจะดีขึ้น