กบร.เคาะขยายมาตรการช่วยเหลือสายการบินจากผลกระทบโควิด ลดค่าแลนดิ้ง-ปาร์กกิ้งอีก 3 เดือน ถึง ก.ย. 64 และเห็นชอบเร่งพัฒนาระบบบริหารข่าวสารการบินสู่มาตรฐานสากล เตรียมพร้อมรับเปิดประเทศ คาดอุตฯ การบินฟื้นในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบร. ครั้งที่ 7/2564 ได้มีมติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สำหรับไตรมาสที่ 3/2564 (1 กรกฏาคม-30 กันยายน 2564) ประกอบด้วย 1. มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน โดยให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลงอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3
ส่วนมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเริ่มดำเนินการเมื่อ ทย.ได้รับเงินชดเชยเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานจากรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ทย. จะดำเนินการคืนเงินค่าบริการส่วนต่างที่ได้เรียกเก็บมาแล้วให้สายการบินเมื่อได้รับเงินชดเชยต่อไป
2. มาตรการทางการเงิน ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) กับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3
ในส่วนของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือลงแล้วเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเงินของ บวท.เองในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หาก บวท.สามารถขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมได้ ให้ บวท. พิจารณานำเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของสายการบินต่อที่ประชุม กบร.อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมการบินของไทยโดยเฉพาะสายการบินที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้น กบร.จึงได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ทอท. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบวท. ร่วมกันจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ และมาตรการได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ในระหว่างนั้น ผู้ประกอบการสายการบิน 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินไทยไลออนแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจสายการบิน โดยขอขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการ
@ พัฒนาระบบการเดินอากาศเชื่อมข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแนวคิดและแนวทางในการพัฒนางานด้านการบริหารข่าวสารการบิน (Aeronautical Information Management : AIM) ของประเทศไทย โดยให้ CAAT มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นศูนย์กลางและเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาระบบการบริหารข่าวสารการบินของประเทศให้ไปสู่ระบบมาตรฐานสากลให้ได้ภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม ทั้งการถ่ายโอนจากระบบบริการข่าวสารการบินแบบเดิม (Aeronautical Information Service : AIS) ไปสู่การบริหารข่าวสารการบิน (AIM) และการพัฒนาต่อไปสู่การบริหารจัดการข่าวสารการบินทั้งระบบ (System Wide Information Management : SWIM) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอินเทอร์เน็ตของโลกการบินที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มุ่งเชื่อมข้อมูลการบินทั้งโลกเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบการเดินอากาศสากลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่มีเป้าหมายให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมในการเดินทางตามเป้าหมายของแผนการเดินอากาศสากล (Global Air Navigation Plan)
เนื่องจากปัจจุบันการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการบินยังเป็นไปในลักษณะจุดต่อจุด (Point-to Point) ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่ระบบ SWIM ได้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการเติบโตของการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต และเชื่อมโยงระบบการบริหารข่าวสารการบินเข้ากับระบบของโลกตามมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดด้านการบริหารจราจรทางอากาศสากล (Global Air Traffic Management Operational Concept) ของ ICAO ที่ได้ให้กรอบการพัฒนาระบบการเดินอากาศของโลกไปสู่อนาคตที่ระบบการบริหารจัดการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความสำคัญเปรียบเหมือนเส้นเลือดของการเดินอากาศทั้งระบบ
การพัฒนาในครั้งนี้ยังจะเป็นการแยกส่วนงานของผู้ให้บริการข่าวสารการบิน โดยให้นิติบุคคลที่มีความสนใจและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งจะส่งผลให้ CAAT สามารถกำกับดูแลและพัฒนางานด้านข่าวสารการบินได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน CAAT ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการข่าวสารการบิน (AIS Provider) ของประเทศไทย ทั้งนี้ ให้ CAAT จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยให้ศึกษาแนวทางดำเนินการของต่างประเทศประกอบด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บริษัทไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ จำกัด ได้รับการยกเว้นการเริ่มประกอบกิจการ โดยการทำการบินจริง (Actual Flight Operation) ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565
และเห็นชอบการกำหนดกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาในการออกใบอนุญาต หนังสืออนุญาต และการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ ซึ่งต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณาตามที่ CAAT เสนอเพิ่มเติมและขอปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปประกาศใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและผู้ประกอบการในการรับทราบขั้นตอนและกรอบระยะเวลาดำเนินการต่าง ๆ ต่อไป รวมถึงให้จัดทำกระบวนงานสำหรับการอุทธรณ์ ในกรณีที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินต้องการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยผู้อำนวยการ CAAT เพิ่มเติมด้วย
@ เตรียมพร้อมรับเปิดประเทศ และรับอุตฯ การบินฟื้นในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังได้มีข้อสั่งการให้ CAAT ต่อยอดตามแผนการเปิดประเทศ เร่งสะสางงานที่คงค้าง และเตรียมความพร้อมเพื่อให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศมีความพร้อมรับการบินกลับมาเป็นปกติในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า ได้แก่
1. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายผลการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีก 9 แห่ง ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ หลังจากการเปิด Phuket Sandbox ประสบความสำเร็จ
2. เร่งรัดทำแผนการจัดระเบียบการดำเนินงานใหม่ (Set Zero) สำหรับภารกิจที่ต้องเร่งจัดการ เช่น การรับรองสนามบินสาธารณะและการออกใบอนุญาตสนามบินส่วนบุคคล รวมถึงการออกใบอนุญาต โดรน ทั้งประเภทที่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับ CAAT และประเภทที่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (โดรนที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 กิโลกรัม) เพื่อลดการบินโดรนที่ผิดกฎหมาย และเพื่อให้กิจการการบินในทุกมิติสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินทุกภาคส่วนสามารถเตรียมพร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาเป็นปกติได้ทัน ตามข้อมูลการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่คาดว่าอย่างเร็วจะเริ่มขึ้นในปี 2566 หรือปี 2568 เป็นอย่างช้า