xs
xsm
sm
md
lg

พิษโควิด-19 ระบาด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. 64 ดิ่งต่ำสุดรอบ 22 ปี 8 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 64 ดิ่งต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน เหตุคนกังวลโควิด-19 ระบาดหนัก ฉีดวัคซีนล่าช้า แม้จะมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล คงดอกเบี้ยนโยบาย และส่งออกเพิ่ม แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก คาดผู้บริโภคชะลอจับจ่าย รอดูสถานการณ์คุมโควิด-19 ล็อกดาวน์ การกระตุ้นเศรษฐกิจหากไม่ชัด จีดีพีปีนี้มีโอกาสโต 0-2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 2564 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,242 ตัวอย่าง ว่า ดัชนีอยู่ที่ 43.1 ลดจากเดือนพ.ค. 2564 ที่ 44.7 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือน หรือ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค. 2541 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 37.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 40.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 52.1

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย .2564 และพบเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม รวมทั้งมีพบการแพร่ระบาดในกลุ่มโรงงาน สถานประกอบการ แคมป์คนงาน ชุมชน และครอบครัว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ ตลอดจนความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้สถานการณ์โควิด-19 ยืดยาวออกไป รัฐบาลออกมาตรการควบคุมในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้มีการหยุดงานก่อสร้าง โดยเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปเท่านั้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 ลดลง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความกังวลจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น

ส่วนปัจจัยบวก มาจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการ เราชนะ, ม.33 เรารักกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง การฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และคลายความวิตกกังวลลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 2564 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.59% การนำเข้ามีมูลค่า 22,261.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 63.54% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 795.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนปี 2564 ส่งออกได้รวม 108,635.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.78% การนำเข้า 107,141.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.52% เกินดุลการค้า 1,494.09 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงแสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศและของโลก เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ส่วนจะกระทบต่อความเชื่อมั่นอีกหรือไม่ ต้องติดตามการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และการแพร่กระจายของโควิด-19 รอบที่ 4 จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์หรือไม่ และอย่างไร รวมทั้งจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เพราะล้วนแต่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะหากไม่ชัดเจน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 0-2% ได้” นายธนวรรธน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น