“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องตั๋วร่วม ต้นปี 65 ใช้บัตรเครดิต-เดบิต (เทคโนโลยี ABT) กับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน สีม่วง สีแดง แอร์พอร์ตลิงก์ โทลล์เวย์ พร้อมให้เร่งศึกษาตั้งเคลียริ่งเฮาส์ ลดค่าแรกเข้าเดินทางข้ามสาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 7 ก.ค. ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งออกแบบระบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ และติดตั้งระบบ ซึ่งเมื่อต้นเดือน ก.ค.ได้ทำการทดสอบระบบครั้งแรกที่สถานีหัวลำโพง และสถานีสนามไชย พบว่าระบบใช้งานได้ถูกต้อง ตามแผนงานจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 และสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานระบบได้ในต้นปี 2565
นอกจากนี้ ตามแผนจะให้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง และทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้เช่นกัน ซึ่งระบบตั๋วร่วมแบบ ABT ที่จะนำมาชำระค่าผ่านทางด่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นจะเป็นบัตรที่ออกโดยธนาคาร และมีบัญชีผูก ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการชำระค่าเดินทาง
ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นั้น ได้มีการเริ่มใช้บัตรจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยี ABT จ่ายค่าผ่านทางทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษเฉลิมมหานครไปแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร ซึ่งได้วางแนวการออกแบบมาตรฐานทางเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมให้เป็นแบบการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (ABT) และบัตรที่ใช้เป็นแบบระบบเปิด (Open Loop) ส่วนการบริหารจัดการตั๋วร่วม จะมีการแบ่งเป็นส่วนของผู้ใช้บริการ ส่วนของผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ศูนย์กลางจัดการค่าโดยสาร (Central Clearing House : CCH) และส่วนผู้ให้บริการชำระเงิน
ซึ่งมีการกำหนดแผนการดำเนินการเป็นระยะสั้น (ภายในปี 2564) จะสามารถนำระบบตั๋วร่วมแบบ ABT มาใช้ได้, ระยะกลาง (ภายในปี 2565) จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเพื่อรองรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และในระยะยาว (ภายในปี 2566) จะมีการจัดตั้งสำนักงานกลางเพื่อมาทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ เพื่อบังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐ และของเอกชน
ส่วนคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้นั้น ได้สรุปปัญหาที่พบ ได้แก่ การเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายไม่เท่ากัน การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน มีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายที่มีการลงนามสัญญาสัมปทานไปแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชยกรณีที่มีความจำเป็น
ส่วนรถไฟฟ้าสายที่จะมีการลงนามในอนาคต คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาเพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนาม
ปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย และในต่างประเทศ ทำการวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ เสร็จแล้ว และคาดว่าจะมีการกำกับดูแล การจัดสรรรายได้ เมื่อมีการใช้อัตราค่าโดยสารร่วมได้ภายในเดือน ก.ย. 2564
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มอบคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบ EMV ที่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ M-flow ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด