xs
xsm
sm
md
lg

GGC ลุ้น “เนเชอร์เวิร์คส์” สรุปลงทุน รง. PLA ใน 1-2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GGC ชี้เนเชอร์เวิร์คส์ตัดสินใจลงทุนโครงการพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 ภายใน 1-2 เดือนนี้ แย้มบริษัทเตรียมพร้อมพื้นที่และระบบสาธารณูปโภครองรับโครงการ PLA ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ มั่นใจปี 64 โกยรายได้ใกล้เคียงปี 63ืที่มีรายได้รวม 1.82 หมื่นล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกเจอผลกระทบโควิด-19 และการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยความคืบหน้าโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงหีบอ้อย มีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอล มีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จปลายปีนี้ และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2565


ส่วนโครงการลงทุนนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 ขณะนี้บริษัทได้เจรจากับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ สหรัฐอเมริกาเพื่อให้มาตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) แห่งที่ 2 ในพื้นที่โครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ คาดว่าทางเนเชอร์เวิร์คส์จะตัดสินใจลงทุนได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ โดยบริษัทจะดำเนินการเตรียมพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าจากไบโอแมสเพื่อรองรับโครงการผลิต PLA ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 หลังจากนั้นบริษัทฯ จะเจรจากับเนเชอร์เวิร์คส์เพื่อเข้าร่วมทุนโครงการผลิต PLA ต่อไป

“บริษัทสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการไบโอพลาสติกของเนเชอร์เวิร์คส์ แต่ตอนนี้คงต้องคุยเรื่องการป้อนไฟฟ้าและไอน้ำให้โครงการดังกล่าวก่อน จากนั้นจะคุยเรื่องการร่วมทุนต่อไป อย่างไรก็ตามมองว่าการเข้ามาลงทุนของเนเชอร์เวิร์คส์ จะเป็นข้อดีของประเทศ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายไพโรจน์กล่าว

ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบถึงปีละประมาณ 110,000 ตัน มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์

นายไพโรจน์กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาตั้งโรงงานผลิต BioSuccinic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบสําหรับพลาสติกชีวภาพชนิดโพลิบิวทิลีน ซัคซิเนต  (Polybutylene Succinate : PBS) ซึ่งปัจจุบันบริษัทแม่ คือ บริษัท พีทีมี โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTGC) ร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์เปอเรชั่น (MCC) ประเทศญี่ปุ่น ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี เปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว

บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2564 ใกล้เคียงปี 2563 ที่มีรายได้รวม 18,261.85 ล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งแรกปี 2564 บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด ระลอก 3 และการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ แต่มั่นใจว่าครึ่งปีหลังนี้จะมีผลดำเนินงานดีขึ้นกว่าครึ่งแรกปี 2564 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนมากขึ้นทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลให้ประชาชนกลับมาเดินทางเพิ่มขึ้นหนุนการใช้ไบโอดีเซล (บี 100) เติบโตตามการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น