xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC-SCCลงทุนพลาสติกรักษ์โลก ลุ้นNatureWorksตั้งรง.PLAในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆของโลก แต่ไทยมีการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีจำนวนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น แต่การนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลมีจำนวนไม่มาก ทำให้ทุกภาคส่วมร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกบาง ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ หลอดพลาสติกที่ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573

ขณะที่ภาคเอกชนได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือการบังคับเลิกใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้งล่วงหน้า โดยมีการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าที่มาซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้ออย่าง7-11 รวมทั้งเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับไปรีไซเคิลได้ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ นับก็เป็นนิมิตหมายอันดีในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือ PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ในเครือปตท. มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์การใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการนำพลาสติกที่ผลิตแล้วกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล( Recycle )ได้ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม มีการขยายการลงทุนไปสู่พลาสติกชีวภาพ เพื่อให้ไทยเป็นไบโอฮับแห่งเอเชีย รวมทั้งตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกในไทย
การรุกสู่ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ เริ่มต้นจาก PTTGC รับโอนหุ้นบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือPTT กับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์เปอเรชั่น (MCC) จากประเทศญี่ปุ่น ที่ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดโพลิบิวทิลีน ซัคซิเนต ( Polybutylene Succinate : PBS) กำลังการผลิต 20,000ตันต่อปี ซึ่งดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี2558 โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการจนมีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกแต่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการจัดการแบบพิเศษใดๆ

แม้ว่าปัจจุบันโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพPBS ดังกล่าวจะยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลังผลิตและมีการส่งออกไปต่างประเทศสูง แต่ด้วยคุณสมบัติของไบโอพลาสติกชนิดPBS ที่นำมาใช้งานได้แม้ในอุณหภูมิสูงกว่า 100°C จึงมีการนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในนั้นคือนำPBSมาเคลือบแก้วกระดาษกาแฟร้อนที่ใช้ในร้านคาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟ อินทนิลและร้านกาแฟอื่นๆที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนแก้วพลาสติกเครื่องดื่มเย็นก็ผลิตมาจากพลาสติกชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ช่วยลดขยะไปได้ส่วนหนึ่ง


ทั้งนี้ PTTGC มีความสนใจที่ต้องการลงทุนไบโอพลาสติกชนิดPLA เพิ่มเติม โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัท Nature Works LLC ที่สหรัฐอเมริกา ร่วมถือหุ้นกับCargill ฝ่ายละ50% มีโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดPLA รายใหญ่สุดของโลกภายใต้แบรนด์ Ingeo มีกำลังผลิต 150,000ตัน/ปี แม้ว่าระยะแรกโรงงานดังกล่าวจะเดินเครื่องจักรไม่เต็มที่ เหตุต้นทุนราคาผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกสูงกว่าพลาสติกทั่วไปมาก แต่เมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทำให้ทุกประเทศตระหนักถึงปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคต จึงได้มีการเรียกร้องความร่วมมือจากนานาประเทศที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมไปถึงการลดใช้พลาสติกลง แต่เมื่อไม่สามารถเลิกการใช้พลาสติกได้จึงหันมาใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิลและพลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้NatureWorksเตรียมตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLAแห่งที่2 ขึ้น โดยมองไว้2ที่คือ สหรัฐฯหรือประเทศในแถบเอเชีย

ดังนั้น PTTGC เสนอให้ NatureWorks เลือกไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพPLA แห่งที่ 2 มาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ เช่น น้ำตาล ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นของโลก รวมทั้งความพร้อมด้านสิทธิประโยชน์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งไทยยังมีฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดPBS และมีตลาดภายในประเทศรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เด่นชัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในกิจการผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบถึงปีละประมาณ 110,000 ตัน มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยในเครือปตท.

PLA เป็นโพลิเมอร์ที่ได้มาจากพืชสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติต่างจากโพลิเมอร์ที่มาจากปิโตรเลียม ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัยทำให้PLAถูกนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อการบริโภค ถุงชา และบรรจุภัณฑ์อาหาร ผลิตเส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผ้าอ้อม หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง NatureWorks อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย(FID)ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดPLA แห่งที่2 คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส3/2564 ส่วนกรณีที่บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตPLAของบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และการยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งประกอบการการลงทุน ทำให้พร้อมลงทุนได้ทันที ถ้าสรุปให้ไทยเป็นฐานการผลิต

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดPLAแห่งที่2 สิทธิขาดการตัดสินใจเป็นของNatureWorks สหรัฐฯเพียงผู้เดียว ในฐานะที่PTTGC เป็นผู้ถือหุ้นได้ให้ข้อมูลต่างประกอบการตัดสินใจเหตุผลที่ไทยควรเป็นฐานการผลิตPLA

ดร.คงกระพัน กล่าวถึงโครงการพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE ว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี2564 โดยผลิตพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงFood Grade เน้นการส่งออกในระยะแรก

ทั้งนี้ โครงการพลาสติกรีไซเคิลประเภท rPET และ rHDPE มีกำลังผลิตรวม 45,000 ตันต่อปี แบ่งกำลังผลิตเป็น rPET 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE 15,000 ตันต่อปี เป็นการร่วมทุนระหว่างPTTGC กับบริษัท ALPLA จัดตั้งบริษัทร่วมทุน " เอ็นวิคโค " ซึ่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET และ rHDPE ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยุโรปที่ALPLAมีตลาดอยู่ ขณะที่ตลาดในไทยความต้องการยังไม่มากเนื่องจากไม่มีข้อบังคับในการใช้พลาสติกรีไซเคิล


 เอสซีจี เคมิคอลส์ผุดรง. Recycled Feedstock

เอสซีจี เคมิคอลส์ในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)(SCC) ได้วางนโยบายการทำธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plastico, SA. (ซีพลาสต์) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลรายใหญ่ในประเทศโปรตุเกส โดยเข้าถือหุ้นสัดส่วน 70% และผู้ถือหุ้นเดิมลดเหลือ 30%

การตัดสินใจลงทุนดังกล่าวสอดรับนโยบายCircular Economy และยังเป็นการขยายช่องทางตลาดในยุโรปด้วย เนื่องจากซีพลาสต์ดำเนินธุรกิจด้านพลาสติกรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส ด้วยกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี มีฐานลูกค้าทั้งในโปรตุเกสและยุโรป

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ SCC กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในการเป็น “ปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” โดยมีโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน เพื่อให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100%, การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) โดยบริษัทได้วิจัยพัฒนาสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR ชนิด HDPE ภายใต้แบรนด์ SCG Green PolymerTM สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทมีแผนจะเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ Green Polymer 2 แสนตันภายในปี 2568

นอกจากนี้บริษัทมีแผนนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) โดยล่าสุดได้ก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในไทย มีกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี รวมไปถึงการจับมือพันธมิตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนพลาสติกชีวภาพในอนาคต

ธนวงษ์ กล่าวย้ำว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น บริษัทมองโอกาสในการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A)ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาก็มีหลายโครงการ แม้ว่าจะมีความยากลำบากในการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า บริษัทเห็นประโยชน์ของพลาสติกมีค่าเกินกว่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทพยายามหาวิธีมาจัดการขยะแบบยั่งยืน โดยวางเป้าหมายเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 บริษัทจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งจะนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจำนวน 1 ล้านตันภายในปี2573

ขณะเดียวกันบริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของDow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ภายในปี 2578 อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วน 40% ที่สามารถนำมาผลิตเป็นฟิล์มยืดสำหรับแพ็คสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ 17% และประหยัดพลังงานได้กว่า 30% ด้วยนวัตกรรมของDow แตกต่างจากการนำพลาสติกใช้แล้วไปผลิตเป็นของใช้ชนิดอื่น เพราะสามารถนำฟิล์มมาผลิตกลับเป็นฟิล์มได้ กล่าวได้ว่าเป็นการนำทรัพยากรมาวนใช้ไม่รู้จบ

Dow ยังมีโครงการถนนพลาสติก โดยส่งเสริมการนำขยะพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลได้ยากมาผสมกับยางมะตอยช่วยลดขยะพลาสติกและยังทำให้ถนนมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และฟิลิปินส์ โดยโครงการนี้ในประเทศไทย Dow ร่วมกับSCC พัฒนาการทำถนนพลาสติกให้เหมาะกับประเทศไทย โดยไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสามารถนำถนนพลาสติกที่ถูกรื้อถอนกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นถนนใหม่ โดยสิ้นปี 2563 ได้มีการนำขยะพลาสติกไปใช้ทำถนนแล้ว 7.7 กิโลเมตร คิดเป็นขยะพลาสติกที่นำมาใช้ทำถนนรวม 23 ตัน หรือเทียบเท่าถุงพลาสติก 5 ล้านถุง

ล่าสุด Dow ได้ลงนามร่วมกับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท SCC และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำโครงการศึกษาเพื่อถนนของภาครัฐ ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนจากขยะพลาสติกในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง ช่วยส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลได้ยากได้อย่างยั่งยืน

จากความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนทำให้ประเทศไทยสามารถปรับลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 มาอยู่อันดับที่ 10 ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 228,820 ตัน ดังนั้นปัญหาขยะพลาสติกของไทยจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้จิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น