xs
xsm
sm
md
lg

จับตาส่งออก-ลงทุนไทยปี 2564 ตัวแปรพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การส่งออกและการลงทุนในไทยปี 2564 เริ่มกลับมาส่งสัญญาณที่สดใสให้เห็นต่อเนื่อง โดยการส่งออกล่าสุดเดือน เม.ย. 64 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือนหรือ 3 ปี นับจากเดือนเมษายน 2561 และเมื่อพิจารณาภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 64) การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78% การนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.85% ดุลการค้า 4 เดือนแรก เกินดุล 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะรายงานทุกไตรมาส พบว่าไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 64) มีการขอรับส่งเสริมฯ จำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโต 14% และมูลค่าเติบโต 80% ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 143% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกเริ่มกลับมาสดใส นั่นเป็นเพราะผลพวงจากเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการที่สามารถรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยดี โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เร่งการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้เกินเป้าหมายและมีแนวโน้มจะครอบคลุม 70% ของประชากรได้ในไม่ช้านี้ รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลจนทำให้เกิดความเชื่อมั่นการบริโภคต่างๆ เริ่มกลับมาอีกครั้ง ไทยจึงได้อานิสงส์ดังกล่าวในการส่งออก เช่นเดียวกับการลงทุนของไทยที่พบว่าทั้งไทยและต่างชาติก็เริ่มขยับเพราะเห็นทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่จะมองการขยายการลงทุนและการลงทุนใหม่ๆ ไว้รองรับอนาคต

จากทิศทางการส่งออกที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ล่าสุดได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2564 จากเดิม 3-5% เป็น 4-6% ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ว่าส่งออกไทยมีโอกาสโตได้ถึง 6-7% ส่วนการขอรับส่งเสริมการลงทุน แม้ว่าบีโอไอไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนแต่ก็มีการประเมินว่าการลงทุนก็จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าปี 2563 โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 4-5 แสนล้านบาท

ส่งออก-ลงทุนปี 2564 สัญญาณเริ่มมา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวแสดงความเห็นถึงทิศทางการส่งออกและการลงทุนไทยว่า การส่งออกค่อนข้างชัดเจนว่าตลาดส่งออกหลักของไทยคือสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นจากการเร่งควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการระดมฉีดวัคซีนต้านโควิดของสหรัฐฯ ที่สามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งหากสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากร 70% ได้เร็วเท่าใด ไทยก็จะได้อานิสงส์การส่งออกมากขึ้นเท่านั้น

“ความต้องการสินค้าของสหรัฐฯ และจีนเริ่มกลับมาอีกครั้งจากการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น หากไม่มีอะไรผิดไปจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะกลับมา เศรษฐกิจโลกจะหมุนมากขึ้น ไทยก็จะได้รับอานิสงส์สะท้อนจากคำสั่งซื้อในเดือน เม.ย.ที่พบว่าสินค้าส่งออกหลัก 10 อันดับแรกของไทยมีเพียงอัญมณีและเครื่องประดับที่ติดลบ ที่เหลือเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนโต 135% ผลิตภัณฑ์ยางโต 55.5% เคมีภัณฑ์โต 65.7% เป็นต้น” นายเกรียงไกรกล่าว

การส่งออกที่เติบโตจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการใช้อัตรากำลังการผลิตจากเดิมที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 50-60% ขยับมาสู่ระดับ 70-80% และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงการเติบโตจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3-4 และที่สุดจะนำมาซึ่งการตัดสินใจขยายการลงทุนภายในประเทศ ขณะที่การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) เชื่อว่าการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตจะมีมาต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปิดประเทศที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19




การฉีดวัคซีนต้านโควิด หัวใจหลักชี้วัด ศก.ครึ่งปีหลัง

“แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยจะสดใสค่อนข้างชัดเจน แต่สิ่งที่เรากังวลคือนับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่เดือน เม.ย.จนถึงวันนี้ก็เดือนกว่าแล้วแต่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ของไทยรายวันยังมีอัตราสูงและมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในโรงงานเกิดขึ้น ทำให้อดห่วงไม่ได้ว่าหากกระทบต่อการผลิตเพียงจุดใดจุดหนึ่งก็จะกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิตและจะทำให้การส่งออกของเราในครึ่งปีหลังสะดุดตามไปด้วย ซึ่งบางอุตสาหกรรมเองมีความอ่อนไหว เช่น อาหาร เวลาเขาตรวจเช็กก็เริ่มถามว่าแรงงานได้ฉีดวัคซีนครบหรือไม่ และหากเราฉีดวัคซีนช้าอาจเป็นแรงกดดันมากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุน หากไทยทำให้เห็นว่าแผนบริหารจัดการวัคซีนดีเขาก็ย่อมจะเชื่อมั่น” นายเกรียงไกรกล่าว

เขาย้ำว่า การเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการและเร่งรัดการฉีดให้แก่ประชาชนครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในครึ่งปีหลังของปีนี้

สอดรับกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ได้เคยกล่าวแสดงความเห็นต่อทิศทางการส่งออกไทยว่า มั่นใจว่าการส่งออกปี 2564 มีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 7% เพราะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกันยังมีสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นความร้อนแรงจากการนำเข้าสินค้าที่ 4 เดือนแรกเติบโต 13.85% ซึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่ชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตกลับมาแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการส่งออกในเดือนพ.ค.และ มิ.ย.อาจเห็นการเติบโตระดับ 2 หลักได้ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กังวลคือการระบาดโควิด-19 ในไทยที่ยังมีแนวโน้มไม่คลี่คลายและที่มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นในโรงงาน ซึ่งหากเกิดผลกระทบขึ้นจะส่งผลต่อภาคการผลิตตามมา จึงเห็นว่าการเร่งฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหมด นอกจากนี้ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ต้องติดตามคือ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ทำให้ต้องมีการนำเข้าตู้เปล่ามาเพิ่มและอัตราค่าระวางที่ยังทรงตัวระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ


กนอ.” เชื่อมั่นการลงทุนจะทยอยฟื้นตัว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงมุมมองภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกและไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ 6% ประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาพิจารณาแนวทางการลงทุน เพียงแต่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เป็นที่จะค่อยๆ ลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น เมื่อหันมามองไทยยังมีข้อจำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 การฉีดวัคซีน ซึ่งเรียกว่าช่วงฝุ่นตลบ แต่อีกไม่นานก็จะมีจุดที่ลงตัวและเราก็จะต้องมาร่วมมือกัน ทั้งการเร่งจัดหาและเร่งฉีดวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และถึงเวลานั้น กนอ.จะต้องเร่งเกาะกลุ่มไปดึงดูดการลงทุนให้เข้ามายังไทยมากขึ้น

โดย กนอ.มีแนวทางที่จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในนิคมฯ ให้น่าสนใจมากขึ้น โดยอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ที่จะเอื้อการลงทุนโดยพิจารณาแนวทางการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

“การลงทุนในนิคมฯ รอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 63-เม.ย. 64) ของ กนอ.อยู่ที่ 113,393.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 102,176.52 ล้านบาท และนอกพื้นที่อีอีซี 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน รวม 8,783 คน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่หากมองในแง่ของยอดขายและเช่าพื้นที่ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1,620 ไร่ ซึ่งก็เพราะไม่สามารถเดินทางมาดูพื้นที่ได้นั่นเอง” นายวีริศกล่าว

ทั้งนี้ กนอ.ยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมและจีดีพีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มฟื้นตัวแน่นอนจากการที่ธุรกิจหลายแห่งเพิ่มกำลังการผลิตและมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนกำลังกลับมา

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 กลไกหลักในการขับเคลื่อนเหลือเสาหลัก คือ การส่งออกมีสัญญาณแน่ชัดถึงการเติบโตสูง ขณะที่การลงทุนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายจะต้องไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความประมาท เพราะโลกนี้นับตั้งแต่โควิด-19 เกิดขึ้น และมีการกลายพันธุ์มากขึ้นก็เริ่มไม่มีอะไรแน่นอน แต่ที่จริงแท้และแน่นอนคือการที่รัฐจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเพื่อปกป้องชีวิตของคนในชาติ เพราะนี่คือหัวใจของการพัฒนาประเทศที่สำคัญสุด ยิ่งช้ายิ่งสูญเสียมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น