xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอไฟเขียวกลุ่ม “เนเชอร์เวิร์คส์” ลงทุน 1.5 หมื่นล้านผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายรับ BCG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีโอไอหนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพภายใต้แนวคิด BCG อย่างต่อเนื่อง ระบุ 6 ปีที่ผ่านมา ให้การส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดอนุมัติส่งเสริมให้กลุ่มบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพระดับโลกลงทุนผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมูลค่าอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของบีโอไอภายใต้แนวคิด BCG ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2564 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไปแล้วมูลค่าประมาณ 31,000 ล้านบาท และล่าสุดบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในกิจการผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ PLA เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น การนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อการบริโภค ถุงชา แคปซูลกาแฟ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติ ผลิตเส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการผลิต PLA ได้ปีละประมาณ 75,000 ตัน ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ ได้แก่ น้ำตาล ปีละประมาณ 110,000 ตัน โครงการจะตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่ง NBC เป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง BCG

“อุตสาหกรรมไบไอพลาสติกจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตจากกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้นี้จะมีส่วนช่วยสร้างพื้นฐานสำคัญให้ประเทศไทยเกิดคลัสเตอร์ด้านไบโอพลาสติกรวมถึงไบโอเคมีคอลในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG แล้ว ยังสอดคล้องกับแนวทาง SDGs (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย” เลขาธิการบีโอไอกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น