กรมราง ถกผู้ให้บริการรถไฟฟ้า วาง4 แนวทาง ปฎิบัติ ป้องกันอุบัติเหตุ หลังเหตุรถไฟฟ้าเมืองกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 2 ขบวนชนกัน จากปัญหาสื่อสารระหว่างขบวนรถกับศูนย์ควบคุม
วันที่ 24 มิ.ย. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีอุบัติเหตุรถไฟฟ้าสองขบวนชนกัน
บนเส้นทางในระบบ Kelana Jaya Light Rail Transit (LRT) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 กรมรางฯจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุของการเดินรถขนส่งทางราง ซึ่งอุบัติเหตุรถไฟฟ้าสองขบวนชนกันบนเส้นทางในระบบ Kelana Jaya Light Rail Transit (LRT) นั้น เกิดขึ้นใกล้กับสถานี KLCC กลางเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกิดจากการที่รถไฟฟ้าขบวน 40 มุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และชนกับรถไฟฟ้าขบวน 81 ที่ออกจากสถานี KLCC โดยมีผู้โดยสารกว่า 200 ชีวิตอยู่ภายในรถ
โดยรถไฟฟ้าขบวน 40 เป็นขบวนรถไม่ได้ให้บริการเนื่องจากเกิดปัญหาทางด้านเทคนิค จากการที่ระบบอุปกรณ์บนตัวรถที่ใช้สำหรับสื่อสารกับศูนย์ควบคุมกลาง (Vehicle Onboard Communication : VOBC) ที่ติดตั้งบนขบวนรถทั้งสองตัวไม่ทำงาน
โดยปกติแล้วขบวนรถดังกล่าวควรจะเคลื่อนที่กลับไปทำการซ่อมบำรุงที่อู่จอดรถไฟฟ้าด้วยระบบการเดินรถอัตโนมัติ (ATO mode) แต่เนื่องจากระบบสื่อสารระหว่างขบวนรถกับศูนย์ควบคุมการเดินรถมีปัญหา ทำให้ขบวนรถหยุดอยู่ที่สถานี Kampung Baru แต่จากการละเลยขั้นตอนสำคัญซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operation Procedures (SOPs) ของเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมการเดินรถที่จะต้องนำรถไฟฟ้าขบวน 40 ขับเคลื่อนด้วย Manual Mode เคลื่อนที่ไปฝั่ง South เพื่อมุ่งหน้าไปยังอู่จอดรถไฟฟ้าตามที่ตั้งใจ แต่กลับเคลื่อนที่อยู่บนฝั่ง North มุ่งหน้าไปยังสถานี KLCC และรถไฟฟ้าขบวน 81 ซึ่งให้บริการผู้โดยสารอยู่ ถูกปล่อยให้เคลื่อนที่ออกจากสถานี KLCC โดยไม่ได้รับการยืนยันว่ารถไฟฟ้าขบวน 40 ได้ทำการ reset ระบบกลับเป็น ATO mode เรียบร้อยแล้ว จึงเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาขั้นตอนสำคัญในมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) จากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุของการเดินรถขนส่งทางรางในระบบรถไฟฟ้าในเมืองของผู้ให้บริการรถไฟ (railway operator) ซึ่งสรุปออกมาได้เป็น 4 แนวทางดังนี้
1.กรณีศูนย์ควบคุมการเดินรถไม่สามารถตรวจจับตำแหน่งรถไฟได้ ส่งผลให้ต้องเดินรถด้วยระบบ Manual เห็นควรพิจารณาเพิ่มพนักงานขับรถไฟเป็น 2 คน โดยให้พนักงานขับรถอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยใช้ความเร็วจำกัดในการเดินรถไฟ เว้นแต่ระบบ ATP ยังสามารถทำงานได้ หรือมีมาตรการอื่นที่ปลอดภัยสำหรับป้องกันการเดินรถผิดทิศทาง
2.ทบทวนและฝึกซ้อมการดำเนินการควบคุมมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOPs) ทั้งหมดในสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ผิดปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน
3.ประเมินและตรวจสอบความเสี่ยงของอุปกรณ์สื่อสารระหว่างคนขับและศูนย์ควบคุมกลาง
4.ตรวจประเมินระบบตรวจจับตำแหน่งรถไฟ เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะตรวจพบและแสดงตำแหน่งรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือต่อไป