อาเซียนถกจีนปรับปรุงข้อตกลง FTA ให้ทันสมัย เล็งลดภาษีสินค้าอ่อนไหวเพิ่ม ตั้งเป้าสรุปก่อนประชุมรัฐมนตรี ก.ย.นี้ พร้อมหารือญี่ปุ่น เตรียมเจรจาข้อสงวนเปิดเสรีการลงทุน จับมือพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และกับเกาหลีใต้ เดินหน้าเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหว ยกระดับเปิดเสรีบริการและการลงทุน
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ทั้งการเปิดตลาดการค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่เจรจาแต่ละประเทศได้มีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน
โดยในการหารือกับจีน ได้ติดตามการยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นภายใต้พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) ที่จะมีการปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย ทั้งการค้าสินค้า บริการ ลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดเสรีเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการค้าทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาเซียนและจีนตั้งเป้าจะได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการที่ทั้งสองเห็นชอบร่วมกันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20 ในเดือนก.ย.2564
นายดวงอาทิตย์กล่าวว่า การหารือกับญี่ปุ่น ได้ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) โดยอินโดนีเซียจะให้สัตยาบันภายในเดือนมิ.ย.2564 ทำให้พิธีสารมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 11 ประเทศในเดือนก.ย.2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เพราะมีการคุ้มครองการลงทุนที่ชัดเจน เป็นการเปิดเสรีเพิ่มเติมจากการเปิดตลาดการค้าสินค้า และจากนั้นจะมีการหารือเพื่อจัดทำข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุนต่อไป
ขณะเดียวกัน อาเซียนและญี่ปุ่นได้หารือเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้จัดทำข้อริเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) เพื่อหาแนวทางและแผนการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดเร่งหาความชัดเจน ก่อนที่จะจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซียน–ญี่ปุ่นในเรื่องนี้
ส่วนการหารือกับเกาหลีใต้ ได้ติดตามการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม การยกระดับด้านการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และติดตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การดำเนินงานของสภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKBC) , การช่วยเหลือของเกาหลีใต้ในการพัฒนาเทคโนโลยี , การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKIIC) ที่คาดว่าจะมีการลงนามใน MOU เดือนก.ย.2564 , การจัดตั้งศูนย์วิจัยมาตรฐานอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKSRC) ในอาเซียน , การส่งเสริมการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสอดรับกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IRs)