xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.เห็นชอบรื้อโครงสร้างแก้ไขข้อบังคับ ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งงานรอง 7 คนตามภารกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างแก้ข้อบังคับการรถไฟฯ ฉบับที่ 2.1 เลิกระบบแบ่งงานรองผู้ว่าฯ สายงานแบบเฉพาะเจาะจง เปลี่ยนเป็นให้อำนาจผู้ว่าฯรฟท.สั่งและมอบหมายเป็นภารกิจ โดยยังมีรองผู้ว่าฯ 7 คน ชี้สถานการณ์เปลี่ยนต้องปรับการทำงานให้คล่องตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวเจษฎาพร ยุทธนวิบูลย์ชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านบริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน วันที่ 16 มิ.ย. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของ รฟท. โดยแก้ไขข้อบังคับการรถไฟฯ ฉบับที่ 2.1 การแบ่งส่วนงานและอำนาจความรับผิดชอบของผู้บริหาร พ.ศ.  2564 ให้ถือใช้เพียงฉบับเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือสับสนในอำนาจความรับผิดชอบ และเกิดความถูกต้องคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ

โดยโครงสร้างในปัจจุบัน การแบ่งส่วนงาน รฟท.เป็นข้อบังคับการรถไฟฯ ฉบับที่ 2.1 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2558 แบ่งส่วนงานและหน้าที่บริหารขึ้นตรงต่อคณะกรรมการรถไฟฯ ได้แก่ กลุ่มยุทธศาสตร์ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจเดินรถ กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน กลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ส่วนงานผู้ช่วยผู้ว่าการด้านบริหาร ส่วนงานผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ โดยมีรองผู้ว่าฯ จำนวน 7 คน ผู้ช่วยผู้ว่าฯ 2 คน

ส่วนโครงสร้างใหม่นั้น จะให้อำนาจผู้ว่าฯรฟท.เป็นผู้มอบหมายหน้าที่ภารกิจการกำกับดูแลให้กับรองผู้ว่าการ รฟท.แต่ละคน ซึ่งรองผู้ว่าการยังมีจำนวน 7 คน โดยปรับเปลี่ยนเป็น รองผู้ว่าการ 1-รองผู้ว่าการ 7 ไม่มีการแบ่งสายงาน เช่น รองผู้ว่าฯ กลุ่มยุทธศาสตร์ รองผู้ว่าฯ กลุ่มอำนวยการ รองผู้ว่าฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน รองผู้ว่าฯ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ฯลฯ เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งโครงสร้างใหม่นี้จะคล้ายกับโครงสร้างเดิมที่ รฟท.เคยใช้เมื่อช่วงปี 2553-2558

ทั้งนี้ เห็นว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รูปแบบการกำกับดูแลและการแบ่งงานเดิม มีการกำหนดลักษณะการบริหารจัดการแบบเฉพาะเจาะจงมากเกินไป และจะทำให้การทำงานมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการได้อย่างบูรณาการ ในทิศทางเดียวกัน มีผลสำเร็จของงานมากขึ้น

การแก้ไขข้อบังคับการรถไฟฯ ฉบับที่ 2.1 นั้น หลังจากบอร์ดรฟท.อนุมัติจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างได้

รายงานข่าวแจ้งว่า การปรับโครงสร้างใหม่ และให้อำนาจผู้ว่าฯ รฟท.มอบหมายงานให้รองผู้ว่าการ รฟท. จากเดิมที่ขึ้นตรงตอบอร์ด รฟท. เป็นการปรับการบริหารงานบุคคล ไม่กระทบต่อจำนวนรองผู้ว่าการ และอัตราเงินเดือนใดๆ แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อเรียกในโครงสร้างใหม่ และไม่มีผลกระทบต่อการแบ่ง 3 หน่วยธุรกิจ และ 1 บริษัทลูกแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น