xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแผนพลังงานฯฉบับกู้วิกฤติโลกร้อน!พลิกลงทุนครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26” ที่ เมืองกลาสโกว์ สหราชอณาจักร หรือ COP26 ระหว่าง 1-12 พฤศจิกายนนี้มีความพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้หลายประเทศต่างออกมาประกาศจุดยืนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และความเป็นกลางทางคาร์บอน อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่วางเป้าหมายในปีค.ศ. 2050 และจีนในปีค.ศ. 2060

สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ได้ประกาศลดก๊าซเรือนกระจกใน COP 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดยมีเป้าหมายลด 20-25% ในปี 2573 ดังนั้นการเข้าร่วมประชุมที่กลาสโกว์ปลายปีนี้ไทยจะมีการประกาศจุดยืนอีกครั้ง โดยขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังหารือทุกส่วนเพื่อวางแนวทาง โดยเบื้องต้นมีเสียงสะท้อนจากเอกชนว่าไทยควรกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2065 ดังนั้นจากทิศทางดังกล่าวทำให้แผนด้านพลังงานที่ถือว่าเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดถึง 30% ของภาพรวมจำเป็นต้องปรับไปในทิศทางเพื่อไม่ให้ตกขบวนของเวทีโลก

ภาพของแผนพลังงานแห่งชาติ((National Energy Plan) หรือ NEP ที่กระทรวงพลังงานโดยสำนักงาน นโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)อยู่ระหว่างการจัดทำจะต้องล้อกันไปกับเป้าหมายของรัฐบาลและทิศทางของโลกในภาพรวมที่ไม่เพียงตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีส่วนมากสุดถึง 80% แต่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่กำลังแสวงหาพลังานสะอาด 100% รับกับกติกาการค้าโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อลดโลกร้อนโดยมุ่งตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าต่างๆต้องใช้พลังงานสะอาด อาทิ มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของอียูหรือ CBAM ฯลฯ และอีกฝั่งที่สำคัญคือค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนที่ต้องไม่แบกรับภาระที่สูงเกินความเป็นจริง

ปิดฉากโรงไฟฟ้าถ่านหิน-เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน

 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวยอมรับว่า หากมองทิศทางของโลกแล้วพลังงานของไทยโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าใหม่จะต้องไม่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอีกต่อไปเพราะถือว่าไม่ได้ตอบโจทย์ทิศทางของโลก โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ(ทดแทน) ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 650 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและอนาคตเหมืองถ่านหินกฟผ.เมื่อถูกใช้จนครบกำหนดจะถูกปรับไปอย่างอื่นต่อไปเช่น สมาร์ทซิตี้ เช่นเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศก็ต้องไม่ใช่เชื้อเพลิงถ่านหินเช่นเดียวกัน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมที่มีอยู่จากแผนเดิมก็จะทยอยปลดออกจากระบบไปในที่สุด

สำหรับพลังงานหมุนเวียน( Renewable Energy) หรือ RE จะมีสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 30% ก็จะต้องเพิ่มมากกว่านี้ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ขยะ รวมไปถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น น้ำ แต่จะเพิ่มสัดส่วนจากที่ทำ MOUไว้กับประเทศเพื่อนบ้านแล้วหรือไม่ก็จะต้องมาพิจารณารายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราค่าไฟฟ้าภาพรวมที่ยังจำเป็นต้องวางเป้าหมายการส่งเสริมให้หลากหลายขึ้นโดยมองว่าแม้ RE จะมีสัดส่วนที่สูงในอนาคตแต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้มีแนวโน้มค่าไฟจาก RE จะถูกลงรวมถึงแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน(ESS)

 “ผมเชื่อว่าปี 2573 ราคาพลังงานหมุนเวียนจะถูกลงมาก แบตเตอรี่ก็เช่นกัน ก็จะส่งผลให้โครงสร้างค่าไฟในอนาคตอาจถูกลง รวมถึงการนำเข้า LNG Spot ที่เป็นราคาแข่งขัน ก็จะส่งผลดีต่อค่าไฟด้วยเช่นกัน ”นายกุลิศกล่าว
 
ขณะเดียวกันจะต้องนำเรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน(Prosumer) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS เข้ามาคำนวนในระบบไฟฟ้าหลักด้วย และต้องพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) และระบบสมาร์ทกริด ไมโครกริดเข้ามาเสริมศักยภาพของระบบไฟฟ้า ตลอดจนมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง และคำนึงถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และแบตเตอรี่ ที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามแผนของภาครัฐ เป็นต้น ส่วนพลังงานที่จะมีผลกระทบค่อนข้างมากก็จะต้องวางกรอบในการปรับตัวอาทิ โรงกลั่นน้ำมันว่าจะไปต่ออย่างไร
 
“หลักการเหล่านี้จะถูกวางกรอบไว้ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติที่จะมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงมาตามทิศทางของประเทศไทย เพราะพลังงานถือเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดถึง 30% โดยคาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติจะประกาศใช้ได้ราวเดือนกันยายนนี้เป็นอย่างเร็ว “นายกุลิศกล่าว
  



“รสนา”แนะเร่งปลดล็อกพลังงานไทย



น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและแกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) กล่าวแสดงความเห็นว่า หลังจากโควิด-19 เกิดขึ้นกิจกรรมของมนุษย์หยุดลงแต่กลับทำให้ธรรมชาติหวนกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ควรจะกลับมาใช้ชีวิตปกติเช่นที่ผ่านมาที่มีการบริโภคเกินความจำเป็น(Over Consumption) และการใช้พลังงานฟอสซิลเองก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป( Climate Change) ทำให้โลกตื่นตัวที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดและทยอยลดและเลิกการใช้พลังงานจากฟอสซิล ขณะที่ภาคพลังงานของไทยนั้นผู้กำหนดนโยบายมาจากการเมืองและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนที่ผูกพันกับการแสวงหากำไรจากพลังงานดั้งเดิม(ฟอสซิล) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงอยู่ที่นโยบายการเมืองเป็นสำคัญ

 ทั้งนี้ โลกร้อนส่งผลกระทบมากมายต่อมนุษยชาติถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะอยู่ยากขึ้น ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดูตามทิศทางของโลกและนวัตกรรมวันนี้เปลี่ยนไปมาก การที่แผนพลังงานแห่งชาติจะกำหนดไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ถูกต้องแล้ว และต้องหันมาเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นในทางปฏิบัติแต่เป็นการส่งเสริมฯแบบมีสติด้วยเช่น กรณีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากนับเป็นล้านๆไร่ ก็ไม่ควรจะไปส่งเสริมฯเพราะควรจะนำพื้นที่ไปสนับสนันภาคเกษตรกรรม

ขณะที่การผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) โครงการโซลาร์ภาคประชาชนกลับรับซื้อไฟในอัตราที่ต่ำเพียง 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลาเพียง 10 ปีทั้งที่อายุแผงมีถึง 25 ปีที่ไม่จูงใจให้ประชาชนติดตั้ง สวนทางกับโรงไฟฟ้าใหญ่ที่รับซื้อตลอด 25 ปีแถมอัตราค่าไฟที่รับซื้อก็ไม่ได้ถูก ตรงกันข้ามกับที่ทั่วโลกต่างส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสพึ่งพาพลังงานด้วยตนเอง เช่น อังกฤษมุ่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับคนจนฟรีแต่ไทยกลับไปใช้นโยบายให้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรกที่ไม่ด้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

” โรงไฟฟ้าเก่าที่วันนี้เรามีสำรองไฟสูงมากถึงเกือบ 40% ควรจะชะลอการก่อสร้างออกไปด้วยซ้ำ แถมสัญญาซื้อขายที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้องจ่ายค่าพร้อมจ่าย(AP)แม้ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงเลยแต่รัฐก็ไม่เคยเจรจาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าไฟฟ้าจากก๊าซฯจะเป็นฟอสซิลแต่ระยะแรกยังจำเป็นแต่ที่สุดจะต้องทยอย Phase Out โรงไฟฟ้าฟอสซิลออกไปให้เร็วที่สุด”น.ส.รสนากล่าว

 ส.อ.ท.จ่อคลอดแผนพลังงานภาคประชาชนก.ย.

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าว่า อยากเห็นการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่มีการวางสมดุลของไฟฟ้าในระยะยาวที่คำนึงถึงจุดคุ้มทุน(Break Even) ของโรงไฟฟ้าเก่า โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิด เพราะหากพลังงานหมุนเวียนหรือ RE อนาคตมีราคาต่ำกว่ามากจะส่งผลให้ไทยต้องใช้ค่าไฟที่แพงขึ้นจึงต้องมี Business Plan ที่ชัดเจน เพราะเอกชนเองก็ต้องมองความอยู่รอดของธุรกิจ

 “มันอารมณ์เดียวกับการลงทุน 4Gก่อนหน้าที่ไทยอยู่แค่ 3G แต่เทคโนโลยีมาเร็วสปป.ลาวเลยลงทุน 4G เลยเช่นเดียวกับเรื่องของ RE เราจึงต้องวางสมดุลให้ดี ขณะเดียวกัน RE 100% ที่เอกชนกำลังต้องการก็มากขึ้นเพื่อรับกติกาการค้าโลกที่มุ่งสู่การลดโลกร้อน ”นายสุวิทย์กล่าว

เขาชี้ให้เห็นว่า ภาคการผลิตและส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต(OEM)ที่มีห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากที่ต้องทำตามนโยบายจากบริษัทแม่ เช่น ญี่ปุ่นที่ต่างตั้งเป้าไปสู่ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2050 เช่นเดียวกับนโยบายประเทศแต่ล่าสุดเรามีนโยบายพัฒนาการลงทุน RE 100% ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแล้วอุตสาหกรรมเดิมที่อยู่ในอีอีซีจะทำอย่างไร รัฐจะต้องมองจุดนี้ด้วย

”โรงไฟฟ้าก๊าซฯต้องมองส่วนที่จะไปสนับสนุนรถไฟฟ้าของภาครัฐเพราะ RE คงจะรองรับไม่ได้ในระยะแรกแต่อนคตเทคโนโลยี ESS มาก็อาจจะทำให้ RE มีความมั่นคงได้มากขึ้น ระหว่างนี้ก็ต้องประคองไว้ก่อนแล้วค่อยๆ ปลดล็อกโดยดูทิศทางนวัตกรรม ”นายสุวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ตามส.อ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติฉบับภาคประชาชนหรือแผนพีดีพีภาคประชาชนในความหมายเดียวกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้หรือภายในกันยายน โดยกำหนดไว้ 2 scenario โดยชี้ให้เห็นว่าถ้าทำแบบนี้จะได้อะไร ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดไรขึ้นไม่ได้ฟันธง โดยเนื้อหาหลักของแผนจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ของกติกาโลกที่จำเป็นต้องวางสมดุลของภาคพลังงานไทยโดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนที่จะเป็นเทรนด์ของโลก โดยแผนดังกล่าวจะมุ่งปรับปรุงทุกปีเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วในยุคปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ยังได้ทำการปรับปรุงแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับภาคประชาชนที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำไปแล้วให้ทันเหตุการณ์มากขึ้นและบรรจุแผนการลดก๊าซเรือนกระจก แผนเชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานจากความร้อนเข้าไปเพิ่มเติม

ความเคลื่อนไหวของทิศทางพลังงานโลกและพลังงานไทยล้วนมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันในการที่จะร่วมกันกู้วิกฤติโลกร้อนเพื่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ดังนั้นนโยบายด้านพลังงานของไทยจึงมีบทบาทสำคัญว่าจะพลิกให้วิกฤติโลกร้อนครั้งนี้กลายเป็นโอกาสให้กับประเทศได้มากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น