xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” แนะรัฐห้ามนำเข้าสารอ๊อกโซเร่งแบนพลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. แนะรัฐห้ามนำเข้าสารอ๊อกโซที่นำมาผสมกับพลาสติกเพื่อเร่งการย่อยสลาย ซึ่งหากจัดการไม่ดี กลายเป็นทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่ม หลังพบมีการนำไปผลิตถุงพลาสติกชนิดบาง ลามไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะช้อนส้อม กล่องบรรจุอาหาร ช่วงโควิด-19 รับกระแส WFH สูงขึ้น สวนทางมาตรการรัฐที่รณรงค์แบนการใช้

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย เพราะตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการจัดส่งในช่วงที่คนในเมืองส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน (WFH) และพบว่า มีพลาสติกที่ใช้ผลิต อาทิ ถุงหูหิ้วชนิดบาง ช้อนส้อม กล่องบรรจุอาหาร ฯลฯ เป็นพลาสติกที่นำสารอ๊อกโซ (OXO) ผสมเข้าไปเพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการย่อยสลายพลาสติกเร็วขึ้นและกล่าวอ้างว่า “ย่อยสลายได้” หรือ “ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” แต่ในข้อเท็จจริงแล้วกลับย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพ ซึ่งหากจัดการไม่ดี ผุยผงที่แตกสลายกลายเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศและน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงภาครัฐควรห้ามการนำเข้าสารอ๊อกโซทันที

“ขณะนี้ภาครัฐมีการกำหนดการรณรงค์เพื่อแบนพลาสติก 7 ประเภท ที่คาดว่า จะเป็นปี 2568 และ 1 ใน 7 นั้น เป็นการแบนถุงพลาสติกชนิดบางที่เติมสารอ๊อกโซ แต่ปัญหาคือเริ่มมีการนำสารดังกล่าวมาใช้กับพลาสติกที่เป็นช้อนส้อม กล่องบรรจุอาหารมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับมาตรการของภาครัฐ โดยห้าง ร้านค้า ที่ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกดังกล่าวบางรายไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่บางรายรับรู้แต่เพราะต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกัผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics) ซึ่งเมื่อนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธีก็จะสามารถย่อยสลายได้ตามสภาวะที่เหมาะสมในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศ” นายอภิภพ กล่าว

ทั้งนี้ การใช้สารอ๊อกโซในต่างประเทศนั้น สหรัฐอเมริกาไม่ได้ทำการแบน เนื่องจากระบบการกำจัดพลาสติกใช้วิธีฝังกลบแบบระบบปิดทั้งหมดที่พลาสติกเมื่อย่อยสลายแล้วจะไม่หลุดเล็ดลอดลงดินและอากาศแต่อย่างใด ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มแบนการใช้โดยเฉพาะถุงพลาสติก เพราะใช้ซ้ำก็ไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่ได้และเรียกร้องให้ทั่วโลกแบนถุง OXO อีกด้วย ทำให้ผู้ผลิตสารดังกล่าวขาดตลาด จึงเบี่ยงเบนมายังเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ โดยมีทั้งการใช้โรงงานพลาสติกในไทยรับจ้างผลิต และขายตรงกับผู้ผลิตพลาสติกในไทย โดยผู้ผลิตสารอ๊อกโซรายใหญ่คือจีน

ปัจจุบันแนวทางการแบนการใช้เป็นเพียงมาตรการรณรงค์ยังไม่มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ทำให้การใช้เพิ่มขึ้นสวนทางกับมาตรการภาครัฐที่พยายามจะลดและแบน และบางครั้งผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านอาหารดีลิเวอรีต่างๆ ต่างนำมาใช้หรือจำหน่ายและบ่อยครั้งที่มีการโฆษณาว่าพลาสติกเหล่านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ไม่ใช่ โดยทั้งตั้งใจเพื่อเป็นเทคนิคในการลดต้นทุนและไม่ตั้งใจ ซึ่งทางกลุ่มฯที่ผ่านมาได้มีการทำหนังสือไปยังห้าง ร้าน ฯลฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่าพลาสติกดังกล่าวไม่ได้ย่อยสลายตัวได้ทางชีวภาพเพื่อป้องกันการทิ้งและกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เติมสารอ๊อกโซแล้ว โฆษณาหรือแสดงสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายว่าเป็นพลาสติกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อป้องกันผู้บริโภคเข้าใจผิด แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ได้หารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เบื้องต้นที่ดูแลในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ

“เราพยายามที่จะทำทุกทางเพื่อให้การจัดการพลาสติกเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยผู้ประกอบการบางรายเมื่อเราเห็นผลิตภัณฑ์ของเขาไม่เป็นไปตามที่เขาโฆษณา เช่น ถุงพลาสติกนี้ย่อยสลายได้พอเราอธิบายเขาก็ยกเลิกออเดอร์ซื้อทันที แต่เราคงไปชี้แจงให้กับทุกรายและทุกรายจะเชื่อเราทั้งหมดคงยาก ซึ่งท้ายสุดสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จคือการห้ามนำเข้าสารอ๊อกโซที่ขณะนี้ไทยยังผลิตไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น