ช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ “หน้ากากอนามัย”ที่เราสวมใส่กันทุกวันเมื่อถอดทิ้งเป็นขยะแล้ว ถ้าทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะไปทำร้ายคนอื่นได้ เพราะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว อยู่ในข่าย “ขยะติดเชื้อ” จำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างถูกต้อง ด้วยการเผาทำลาย
ทว่าพฤติกรรมการทิ้งขยะตามครัวเรือนของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการทิ้งแบบเหมารวม (ทิ้งรวมลงถังเดียวโดยไม่ได้คัดแยก)
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บอกว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย หากเทียบจากอัตรากำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศต่อวันอยู่ที่ 1.2 - 1.3 ล้านชิ้น และจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เกิดขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วประมาณ 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน
“ถ้าเทียบจากปริมาณที่ผลิตในไทยคาดว่าจะมีขยะติดเชื้อหน้ากากอนามัยราว 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 240 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 0.012 กิโลกรัม”
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ย้ำให้ประชาชนทั่วไปทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วว่า
1.) ให้รวบรวมถุงขยะที่มีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วแยกออกจากถุงขยะอื่น ๆ
2.) ระบุข้อความบนถุงขยะว่า “หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ให้เห็นได้อย่างชัดเจน
3.) ส่งให้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
ส่วนข้อแนะนำสำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน สถานประกอบการ อาคารชุด
1.) จัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์ รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และไม่ควรมีจุดรวบรวมเกิน 2 จุด
2.) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยควรแสดงแผนผังหรือรูปภาพแสดงวิธีการทิ้งที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ
3.) รวบรวมโดยแยกทิ้งจากขยะอื่น ๆ เพื่อส่งให้กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือส่งให้สถานที่กำจัดเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
ขยะหน้ากากอนามัยที่ถอดทิ้งอย่างผิดวิธี...ไปอยู่ที่ไหน?
ขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ในเวลากว่า 1 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อยถูกถอดทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี และกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่เก็บขยะที่จะต้องคัดแยกก่อนส่งต่อไปยังขั้นตอนการเผาทำลาย
เมื่อขยะหน้ากากใช้แล้วปะปนอยู่กับขยะอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกแยกทิ้ง ทำให้พนักงานเก็บขยะที่ต้องสัมผัสโดยตรงมีโอกาสได้รับอันตราย และบางส่วนอาจจะกระจายไปตามที่ต่างๆ เช่น ตามชายฝั่ง หรือในทะเล ส่งผลต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ทั้งจากข่าวขยะหน้ากากอนามัยที่เกลื่อนอยู่เต็มชายหาด หรือแม้แต่การตายของเหล่าสัตว์ทะเลที่ถูกขยะหน้ากากอนามัยฆาตกรรมน่าจะทำให้พวกเราเห็นแล้วว่าหน้ากากอนามัย คือ ขยะที่อันตรายแค่ไหน
แล้วเราจะต้องทิ้งอย่างถูกวิธีได้อย่างไร?
ขั้นตอนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตามด้านล่างนี้ ทุกคนสามารถส่งต่อให้กับคนรู้จักได้เลย เพื่อเป็นการช่วยกันลดขยะติดเชื้อ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
1 #ถอดโดยไม่สัมผัสด้านใน และ พับ/มัด ให้ด้านในประกบกัน ก่อนจะใช้สายม้วนโดยรอบ
2 #ใส่ถุงทำสัญลักษณ์ มัดปากถุงให้แน่น หรือห่อด้วยกระดาษ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และอย่าลืมเขียนให้ชัดเจนว่า หน้ากากอนามัย
3 #ทิ้งแยกถัง โดยมองหาถังสีแดงใกล้ตัวที่ระบุว่า “ขยะติดเชื้อ” เท่านั้น หรือถังขยะสำหรับหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
ไม่มีใครรู้หรอกว่าหน้ากากอนามัยที่กลายเป็นฆาตกรมาจากใคร แต่มันจะไม่ใช่คุณอย่างแน่นอน ถ้าคุณ #ถอดและทิ้งถูกทาง
แต่ตามความเป็นจริงที่ยังเกิดอยู่ทุกวันนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังทิ้งขยะแบบถังเดียวรวมกัน ไม่ได้มีการคัดแยกทิ้ง ดังนั้น ขยะหน้ากากอนามัย ทุกคนช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และลดสร้างภาระให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้ด้วยการใช้ถุงห่อ หรือภาชนะอื่นๆ เช่น ขวดเพ็ทใส่เอาไว้โดยเฉพาะ พร้อมเขียนระบุว่าเป็นขยะหน้ากากอนามัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นชัด ซึ่งจะนำไปคัดแยกอย่างสะดวกและปลอดภัย ก่อนนำไปกำจัดโดยการเผาต่อไป