เมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม 2564 นางสาวรัชนี โชคเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกกระทิงที่บาดเจ็บ มีอาการทรุดลงและซึม นอนมากขึ้น ไม่ค่อยมีความอยากอาหาร พยายามลุกยืนแต่อ่อนแรง ทำการประคองช่วยยืนสามารถยืนทรงตัวได้บ้างแต่ยืนในระยะเวลาสั้นๆ ข้อขาหน้าซ้ายและหลังซ้ายยังคงมีอาการบวม เดินลงน้ำหนักขาข้างที่เจ็บไม่เต็มที่ มีอาการสั่นเกร็งเล็กน้อยขณะยืน มีบาดแผลถลอกจากการถูกสุนัขบ้านกัด และพบบาดแผลมีหนอนแมลงวัน
“ในวันนี้ (17 พ.ค.) พบว่าลูกกระทิงมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง อ่อนแรงมากขึ้น ไม่มีแรงยกหัว ไม่สามารถลุกยืนเองและไม่สามารถพยุงตัวเองจากการช่วยประคองลุกยืนได้ ไม่มีความอยากอาหาร หายใจเสียงดังและหายใจลำบากขึ้นกว่าปกติ มีอาการอ้าปากหายใจเป็นระยะ สภาพร่างกายผอมลง จากการตรวจวัดสัญญาณชีพของร่างกาย พบว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่าค่าปกติ อัตราการหายใจน้อยกว่าค่าปกติ เสียงปอดไม่ปกติ ทีมสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดปวด ลดอักเสบ วิตามิน ยารักษาแก้ไขภาวะช็อค ให้น้ำเกลือและสารทดแทนให้พลังงานเข้าทางเส้นเลือด ป้อนนมทดแทน”
ต่อมาเวลา 13.44 น. ลูกกระทิงได้หยุดหายใจและตายลง ข้อมูลจากการชันสูตรซากพบความผิดปกติของอวัยวะที่แสดงถึงการเกิดภาวะ Capture Myopathy ส่วนบริเวณข้อขาที่บวม เปิดผ่าด้านในพบหนองลักษณะข้นและเป็นชิ้น บริเวณโคนกีบและใต้พื้นกีบมีรอยร้าวบางตำแหน่ง เนื้อเยื่อในช่องปากด้านล่างติดกับฟันซ้าย พบเนื้อเยื่อมีลักษณะค่อนข้างเปื่อย มีหนอนแมลงวันไชอยู่
ทั้งนี้สัตวแพทย์ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นส่วนอวัยวะส่งตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการโดยทางเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าได้ดำเนินฝังกลบซากลูกกระทิงโรยปูนขาวและเผาทำลายอุปกรณ์ ของใช้ต่างๆ เพื่อป้องกันพาหะนำโรคสู่สัตว์ป่าตัวอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช