นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้ นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" โดยมี คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นางนวลจันทร์ ศรีมงคล พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด, นายสุทธิสันต์ พิมพะสาลี ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ, นางลักษณ์ชญา งามสง่า ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด, นางปุณณดา วัฒนสุข ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด, นางสาวพิมพ์ปวีณ ยอดแก้ว ผู้อำนวยการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และนางราณี วงศ์ลุน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมการประกวดฯ
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัย พร้อมดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน จึงได้จัดทำโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย, เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์, เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน, เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย
สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยแยกเป็น 6 ประเภท และมีผู้สมัครเข้าประกวด ดังนี้ 1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ จำนวน 119 ผืน 2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป จำนวน 18 ผืน 3) ผ้าเทคนิคผสม จำนวน 4 ผืน 4) ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อมที่เป็นผ้าทำมือ จำนวน 1 ผืน 5) ผ้าปักมือ โดยใช้เทคนิคการปักด้วยมือบนผ้า จำนวน 2 ผืน และ 6) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ บนพื้นฐานเอกลักษณ์จังหวัด จำนวน 9 ผืน รวมผู้เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 153 ราย