นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยมี นายเชาวลิต แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย นางนวลจันทร์ แสงอุทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพงเพชร นายปริญญา ฤกษ์หร่าย นางณิชเบญญา จันทนจุลกะ ฤกษ์หน่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำแพงเพชร นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะ ตลอดจนคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวขอบคุณ นายเชาวลิต แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ที่เห็นความสำคัญและเป็นกำลังสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยให้ทรงคุณค่า จนเกิดรูปธรรมของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรชาวไทย รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทย ว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้ทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน รวมถึงพระองค์ได้เสด็จเปิดงาน OTOP City 2020 ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พสกนิกร จึงได้พระราชทานแบบลายผ้าแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในการสื่อความหมายถึง การส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทย และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบ พัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามเอกลักษณ์ประจำถิ่น ให้เกิดความทันสมัย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค เสมือนเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจแก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง รวมถึงรัฐบาลนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นความสำคัญของการสวมใส่ผ้าไทยออกเป็นมติคณะรัฐมนติเห็นชอบในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ถือมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทย ตามความเหมาะสมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อสร้างค่านิยมและการตระหนัก รับรู้ รักษามรดก อัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย
สำหรับการลงนามในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพในการทอผ้า ทั้งเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลักได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทำให้กลุ่มทอผ้าจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 34 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับมอบลายผ้าพระราชทาน จำนวน 21 กลุ่ม สามารถเพิ่มยอดจำหน่าย ยกระดับคุณภาพชีวิต
ขณะที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวขอบคุณคณะสภาสตรีแห่งชาติ และกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ในการพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ให้คนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ทำให้สตรีไทยเกิดอาชีพเสริม จนปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลัก โดยการสืบสานต่อยอดในพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีใจความสำคัญว่า พระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย สืบสานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมสิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทย เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมการแต่งกาย สนับสนุน ส่งเสริม รื้อฟื้น ชีวิตผ้าไทย โดยพระองค์ท่านมองเห็นถึงจุดอ่อนของวงการผ้าไทย คือ ผ้าทอแบบเดิม ไม่มีความโดดเด่นตามยุคตามสมัย พระองค์ทรงได้แนะนำการประยุกต์พัฒนาลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้วงการทอผ้าไทย มีความคึกคักเป็นอย่างมาก เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยลมหายใจของช่างทอ ซึ่งผ้าทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของสตรี หากคนไทยพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวันทั้งประเทศ จะช่วยเป็นการส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ อย่างน้อย หากคนไทย 35 ล้านคน ร่วมใจกันสวมใส่ผ้าไทย ซื้อผ้าเพียงคนละ 10 เมตร รวม 350 ล้านเมตรๆ ละ 300 บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนทันทีมากกว่า 1 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านบริการวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนา การแปรรูป รวมถึงการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ในการสนับสนุนให้การรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยของรัฐบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณทุกท่านและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีนวัตกรรม คิดค้นศึกษาวิจัย ด้วยการนำกาบกล้วยไข่มารีดเนื้อเยื้อออก โดยใช้ช้อนขูดเป็นเส้นใย นำเส้นใยกล้วยไข่ปั่นรวมกับใยฝ้าย เพื่อนำไปถักทอผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้มีความหลากหลาย และโดดเด่น แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ก่อให้เกิดวงจรธุรกิจมหาภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาการย้อมเส้นฝ้ายจากผงศิลาแลง ซึ่งเดิมจังหวัดกำแพงเพชรที่ผ่านมาไม่มีผ้าพื้นเมืองประจำจังหวัด จึงได้ทำการคิดค้นกระบวนการย้อมผ้าจากผงศิลาแลง เพื่อให้ได้สีจากธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ เกิดกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และร่วมชมนิทรรศการหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีของเด่นทั้ง 11 อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร
สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ทำให้ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลานเพื่อรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ จึงขอเชิญชวนทุกท่านสวมใส่ผ้าไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป