xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบดำเนินการส่งเสริมผ้าไทยสร้างรายได้ 8 พันล. เท 350 ล.ขับเคลื่อนคุ้มครองผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสร้างรายได้ 8,511 ล้านบาท เห็นชอบจัดสรรงบ 350 ล้าน ให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค


วันนี้ (11 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 พบว่า ทุกจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยมีการกำหนดให้ข้าราชการและประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จำนวน 51 จังหวัด

นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เพื่อรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่าย ซึ่งจังหวัดที่มีการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จำนวน 200 หน่วยงาน, อุดรธานี 91 หน่วยงาน และบุรีรัมย์ 89 หน่วยงาน ส่วนจังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองมากที่สุดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต 96 ครั้ง, ชัยภูมิ 81 ครั้ง และตาก 64 ครั้ง

โดยประโยชน์ที่ประชาชนได้รับตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยนั้นพบว่า มีรายได้จากการจำหน่ายระหว่างเดือนมิถุนายน 2563-มกราคม 2564 จำนวน 8,511 ล้านบาท จังหวัดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับคือ ขอนแก่น, นครราชสีมา และอุดรธานี ส่วนผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวน 8,016 กลุ่ม สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 69,553 คน

สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสู่การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทยนั้น ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563

โดยได้พระราชทานแบบลายผ้าชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้เป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า พบว่ามีผลการดำเนินงานดังนี้

1. นำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ไปต่อยอดจำนวน 1,042 กลุ่ม 10,168 คน มียอดจำหน่ายจำนวน 6,856,740 บาท

2. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อเชิญชวนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง และ

3. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการทอผ้า โดยดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด และจัดตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้า ซึ่งกรมการพัฒนาชุนได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 796,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าวัสดุในการฝึกอบรม

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาและอุปสรรคสำหรับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เช่น ต้นทุนการผลิตสูง ผู้ประกอบการบางส่วนมีข้อจำกัดด้านการผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากได้ และความไม่ต่อเนื่องของการผลิตในบางจังหวัด กลุ่มทอผ้าขาดทักษะ กลุ่มตัดเย็บผ้าบางพื้นที่ขาดความประณีต และยังพบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและผู้ซื้อสินค้าน้อยลง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ เช่น 1) คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 2) ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค 3) ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด 4) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค 5) ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี 6) สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ 7) เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ

สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564-2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้ 1) แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 2)แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 3) แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค 4) แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5) แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค 6) แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350 ล้านบาท ส่วนงบประมาณอีก 378 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นั้น ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคใช้จ่ายจากเงินทุนประเดิมที่มีเหลือและเงินรายได้ที่มาจากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง และค่าบริการที่เก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก หากไม่เพียงพอให้เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณตามความจำเป็นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น