xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลั่นปลาย มิ.ย.นำเข้ายาต้านโควิดมอบรัฐ เอ็มโอยูราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหาวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.ร่วมมือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้พนักงานและประชาชนในภาคอุตสาหกรรม ลดภาระงบประมาณภาครัฐ ขณะเดียวกันปลาย มิ.ย.นี้เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ 2 พันขวดบริจาคให้ภาครัฐเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงและสตรีตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลั่นปีนี้ ปตท.มีผลดำเนินงานดีกว่าปี 63 แน่นอน พร้อมจับมือพันธมิตรรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครบวงจร

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ ปตท.ได้มีความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อที่จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 และกระจายฉีดให้ประชาชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ ขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่สะดุดจนกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์เพียงตัวเดียวที่ยังเหลืออยู่ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.ยังไม่ทราบปริมาณการนำเข้าวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างชัดเจนจึงไม่สามารถระบุจำนวนเงินลงทุนที่แน่นอนได้ แต่ทั้งนี้ ปตท.ได้ตั้งงบประมาณโครงการ “ต่อลมหายใจเดียวกัน” ราว 200 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือสังคมในวิกฤตโควิดระลอก 3 มีการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาลกว่า 300 เครื่อง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ คิดเป็นมูลค่ารวม 170 ล้านบาท หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ยืดเยื้อก็พร้อมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้ ปตท.เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จำนวน 2,000 ขวดจากในประเทศไทยมีอยู่ 4,000 ขวดในปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อมอบแก่ภาครัฐเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก และผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ อาทิ สตรีมีครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต โดยการนำเข้ายาดังกล่าวอาศัยเน็ตเวิร์กของบริษัทลูก คือ อินโนบิก (เอเชีย) ที่ได้ถือหุ้น 6.66% ในบริษัท Lotus Pharmaceutical จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำของไต้หวันที่ทำตลาดยาในเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ในการจัดหายาเพื่อนำเข้ามาในไทย

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ปตท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาล ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อนำไปใช้สำหรับพนักงานกลุ่ม ปตท.และเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน โดย ปตท.จะนำวัคซีนหนุนเสริมการบริหารการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป


นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท On-I on ที่ดูแลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรทั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และรถบรรทุกอีวีตลอด Value Chain ทั้งโรงงานผลิตรถอีวี สถานีชาร์จอีวีและ platform จากเดิมที่จะดูแลพัฒนาเครือข่ายการทำสถานีชาร์จอีวีนอกสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ทาง On-I on ได้มีการเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถอีวีป้อนตลาดในไทยและภูมิภาคนี้ แต่ทั้งนี้จะพิจารณาควบคู่กับการสนับสนุนรถอีวีจากภาครัฐด้วย ส่วนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่อาจจะจัดหาหรือนำเข้าจาก บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) โดยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีความชัดเจนเรื่อง Platform EV Car

สำหรับผลการดำเนินงาน ปตท.ในปี 2564 ดีกว่าปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 3.77 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 1/2564 ปตท.มีกำไรสุทธิ 3.25 หมื่นล้านบาท ส่วนผลประกอบการปีนี้จะฟื้นตัวเท่าปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 9.29 หมื่นล้านบาทหรือไม่นั้นตอบไม่ได้ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด

“ในไตรมาส 2/2564 ค่าการกลั่นใกล้เคียงไตรมาส 1/2564 เฉลี่ย 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดว่าเฉลี่ย 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ด้านการบริหารจัดการ ทางกลุ่ม ปตท.ได้ร่วมบริหารงานให้เดินเครื่องเต็มที่ ทั้งโรงปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อรองรับการส่งออกที่ตลาดฟื้นตัวดีขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น