xs
xsm
sm
md
lg

สถานีกลางบางซื่อพร้อม 100% ดีเดย์ 24 พ.ค. ”ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด” เริ่มคนภาคคมนาคมขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุทิน” ควง ”ศักดิ์สยาม” เช็กความพร้อมสถานีกลางบางซื่อ จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 จัดพื้นที่ 1.4 หมื่น ตร.ม. ระดมเจ้าหน้าที่ฉีดได้ 900 คน/ชม. หรือ 10,000 คน/วัน ดีเดย์ 24 พ.ค. ฉีดคนในภาคขนส่งก่อน “อนุทิน” ลั่นวัคซีนเพียงพอ จัดรถ Shuttle Bus 3 เส้นทาง "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เซ็นทรัลลาดพร้าว, MRT จตุจักร, BTS หมอชิต"
วันที่ 21 พ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ณ สถานีกลางบางซื่อ ถนนกำแพงเพชร ซึ่งได้วางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะรองรับเป็นการฉีดให้แก่บุคลากรหน่วยงานคมนาคมขนส่งและผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เริ่มตั้งแต่ 24 พ.ค.-6 มิ.ย. 2564 ช่วงที่ 2 จะเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งรอนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต่อไป โดยจะเปิดบริการ 09.00-20.00 น. มีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนได้ประมาณ 10,000 คนต่อวัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังตรวจการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ที่สถานีกลางบางซื่อ ว่า ขณะนี้สถานที่ถือว่ามีความพร้อมและเหมาะสมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันบูรณาการให้เป็นสถานีฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม จะสามารถฉีดได้ประมาณ 10,000 คนต่อวัน เริ่มจากกลุ่มบุคลากรด้านการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในการให้บริการต้องสัมผัส พบปะกับประชาชนจำนวนมาก จะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งธารณะตามเจตนารมณ์ของกระทรวงคมนาคม

และหลังจากนั้นจะให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นลักษณะกลุ่มองค์กรต่อไป ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะเป็นจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยลดความแออัดและภาระในสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จุดอื่นๆ อีกด้วย

“ยืนยันวัคซีนมีเพียงพอ เพราะมีการสั่งซื้อสำรองจากต่างประเทศและผลิตในประเทศไว้อย่างเพียงพอต่อจำนวนประชากร ซึ่งกรณีฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มแรกกับเข็มที่สองมีระยะห่าง 3 สัปดาห์ กรณีฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกกับเข็มที่สองมีระยะห่าง 16 สัปดาห์ และวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อได้รับการยืนยันว่าสามารถฉีดได้ครอบคลุมทุกอายุ“ นายอนุทินกล่าว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมกล่าวว่า บุคลากรด้านคมนาคมขนส่งทั้งหมดมีประมาณ 352,784 คน โดยอยู่ใน กทม.และปริมณฑล 59,729 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะให้ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งขณะนี้สถานที่มีความพร้อม 100% มีการจัดระบบตั้งแต่เข้ามาจุดที่ 1 จนถึงจุดพักคอยดูอาการ กรณีที่ลงทะเบียนมาก่อน จะมี QR code สแกนลงทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว รองรับได้ชั่วโมงละ 900 คน โดยเวลาในการเข้าฉีดวัคซีนประมาณ 15 นาที และรอดูอาการหลังฉีด 30 นาที รวมประมาณ 45 นาทีต่อคน ส่วนบุคลากรในภูมิภาคยังมีอีกจำนวน 1574,000 คน จะประสานกับจังหวัดให้ดำเนินการ ซึ่งหากเป็นไปตามแผน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรคมนาคมขนส่งได้ครบ

“วันที่ 24 พ.ค.จะเริ่มฉีด จะดูว่าสามารถฉีดได้ตามเป้าหมายหรือมีข้อปรับแก้จุดใดบ้าง ส่วนผู้ประกอบการรถสาธารณะ คนขับแท็กซี่ รถรับจ้างต่างๆ จะเข้ารับการฉีดเช่นกัน โดยให้กรมการขนส่งทางบกรวบรวมข้อมูล เพื่อทำแผนการฉีดต่อไป"

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานอำนวยการบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์โควิดในระบบขนส่งมวลชน กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตรียมพื้นที่สถานีกลางบางซื่อสำหรับเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 14,294 ตร.ม.หรือเกือบ 85% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีโถงชั้นล่าง 2 โถง พื้นที่ 6,758 ตร.ม. ชั้นลอย พื้นที่ 4,170 ตร.ม. นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เก็บวัคซีน และพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย โดยได้เตรียมโต๊ะจำนวน 250 ตัว เก้าอี้ 4,000 ตัว ทีวีขนาดใหญ่ 8 เครื่อง พัดลมแบบตั้งพื้น 20 ตัว เพื่อถ่ายเทอากาศกรณีที่มีประชาชนจำนวนมาก และรถพยาบาลจากโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร การรถไฟฯและพร้อมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กรณีฉุกเฉิน

ภายในพื้นที่แบ่งเป็น 4 จุด โดยจุดแรกเป็นที่พักคอย รองรับได้ 1,400 ที่นั่ง จุดที่ 2 เป็นพื้นที่ลงทะเบียนข้อมูลเซ็นใบยินยอม รองรับได้ 179 โต๊ะ จุดที่ 3 จุดฉีดวัคซีน รองรับได้ 100 โต๊ะ จุดที่ 4 จุดพักรอสังเกตอาการ มีประมาณ 800 ที่นั่ง

ในด้านการขนส่งรองรับการเดินทางมายังสถานีกลางบางซื่อนั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดหารถ Shuttle Bus ปรับอากาศบริการใน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ท่าน้ำบางโพ-สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน (สายสีม่วง) เพื่อเดินทางโดย MRT มายังสถานีบางซื่อ 2. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สถานีกลางบางซื่อ 3. เส้นทางวงกลม จากหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว-MRT จตุจักร /BTS หมอชิต-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร ) หมอชิต 2 นอกจากนี้ ยังจัดรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) จำนวน 3 คัน บริการรับ-ส่งโดยรอบสถานีกลางบางซื่อ

นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ณ สถานีกลางบางซื่อนั้น ก.สาธารณสุขได้จัดบุคลากรจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันเด็ก และจะมีนักเรียนพยาบาล และครูพยาบาล สภาการพยาบาล จัดบุคลากรมาช่วยในการฉีดวัคซีน โดยจะมีอัตราการฉีดได้ประมาณ 900 คนต่อชั่วโมง การบริการ 10 ชั่วโมงต่อวัน จะรองรับได้ 9,000 คน หรืออาจมากถึง 10,000 คน

ซึ่งการลงทะเบียนการฉีด 3 ระบบ คือ 1. นัดหมายเป็นองค์กร 2. นัดหมายระบบหมอพร้อม 3. ลงทะเบียน ณ จุดฉีด ซึ่งกรณีที่วัคซีนไม่เพียงพอในวันนั้นจะได้ลงวันนัดล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อจัดเตรียมวัคซีนได้อย่างเพียงพอตามที่ต้องการ

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลจำนวนบุคลากรคมนาคมทั้งประเทศ ทั้งภาครัฐและบุคลากรขนส่งภาคเอกชน (คนขับรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถร่วมบริการ ขสมก. บขส. เป็นต้น) ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีจำนวนทั้งสิ้น 352,784 คน โดยเป้าหมายที่จะให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ คือบุคลากรในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะมีจำนวน 183,814 คนนั้น แบ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐจำนวน 47,179 คน แจ้งขอรับวัคซีนแล้ว 45,542 คน บุคลากรขนส่งภาคเอกชน จำนวน 138,272 คน แจ้งรับวัคซีนแล้ว 22,003 คน หรือเท่ากับเบื้องต้นมีการยืนยันเข้าฉีดวัคซีนจำนวน 67,545 คน ส่วนที่เหลือจะทยอยเข้าลงทะเบียนต่อไป

อย่างไรก็ตาม บุคลากรด้านคมนาคมขนส่งสาธารณะนั้น มีบางส่วนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว เช่นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ในงานแนวหน้า (Front Line)












กำลังโหลดความคิดเห็น